ภาคต่างๆ ของพิธีบูชามิสซา

พิธีการต่างๆ ของบูชามิสซานั้น ประกอบด้วยภาคต่างๆ ดังนี้ คือ

1. ภาคนำ ตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนถึงบทภาวนาแรกของประธาน (Collecta)

2. ภาคแรก วจนพิธีกรรม (บทอ่านในพระคัมภีร์ บทแรก ถึงบทภาวนาเพื่อมวลชน)

3. ภาคสอง พิธีศีลมหาสนิท (ตั้งแต่การเตรียมถวายเครื่องบูชา ถึงบทภาวนาหลังรับศีล)

4. ภาคปิดพิธี

5. ก่อนที่จะไปร่วมถวายบูชามิสซา

 

 

ภาคนำ

นหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับมิสซาโรมัน (Institutio Generalis Missalis Romani, ต่อไปจะใช้คำว่า I.G.) ข้อ24 กล่าวไว้อย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับภาคนำในพิธีบูชามิสซานี้ว่า "พิธีที่นำหน้าภาควจนพิธีกรรมกล่าวคือ เพลงแห่เข้า (เพลงเริ่มพิธี) - คำทักทาย - การสารภาคความผิด - ข้าแต่พระเจ้าขอทรงพระกรุณาเทอญ (กิรีเอ) - พระสิริรุ่งโรจน์ (กลอรีอา) และบทภาวนาแรกของประธาน (Collecta) มีลักษณะเป็นการเริ่มต้น นำและเตรียม จุดประสงค์ของพิธีเหล่านี้ก็เพื่อให้ประชาสัตบุรุษที่ร่วมประชุมกันมีความรู้สึกเป็นชุมนุมชน และเพื่อโน้มนำจิตใจพวกเขาให้ฟังพระวาจาของพระเจ้าอย่างถูกต้อง และให้ฉลองศีลมหาสนิทอย่างสมควร"

เพลงแห่เข้า (เพลงเริ่มพิธี) (Ant.ad Introitum)

"เมื่อสัตบุรุษประชุมพร้อมกันแล้ว ก็เริ่มร้องเพลงแห่เข้า ขณะที่พระสงฆ์และศาสนบริกรผู้ช่วยเดินเข้ามา จุดประสงค์ของการมีเพลงนี้ก็เพื่อเป็นการเปิดพิธีฉลอง เพื่อให้ชุมชนร่วมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น เพื่อชักนำจิตใจของพวกเขาไปสู่ธรรมล้ำลึกแห่งเทศกาลหรือวันฉลอง และเพื่อประกอบขบวนแห่ของพระสงฆ์และศาสนบริกร" (I.G.25)

 

เพลงแห่เข้านี้ ถ้าเป็นเพลงเกรโกเรียน จะมีชื่อว่า Antiphona ad Introitum ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม อย่างน้อยกลางคริสตศตวรรษที่ 5 (เช่นเดียวกับเพลงในภาคถวาย และเพลงรับศีล) เพลงแห่เข้านี้ บางบทก็มีเนื้อร้องมาจากเพลงสดุดี (Psalms) บางบทมาจากบทจดหมายในมิสซาประจำวันนั้นๆ และบางบทผู้แต่งเพลงเขียนเนื้อร้องเอง โดยไม่ได้นำข้อความมาจากพระคัมภีร์เลยก็มีเหมือนกัน โดยพยายามกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงธรรมล้ำลึกที่ฉลองพิเศษในวันนั้น หรือเป็นข้อความสดุดีนักบุญ (ตัวอย่างเพลง Gaudeamus)

สำหรับสังฆมณฑลหรือประเทศใดที่ใช้เพลงอื่น ไม่ใช้เพลงเกรโกเรียนในพิธีกรรม สภาพระสังฆราชของประเทศนั้นๆ จะอนุมัติให้ใช้เพลงอื่นๆ ที่ถูกต้องตามจุดประสงค์ และตามเทศกาลของพิธีกรรมแทน ที่ว่าเป็นเพลงที่ถูกต้องตามจุดประสงค์ และตามเทศกาลของพิธีกรรมนั้น หมายความว่าจะต้องเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองแบบ "เปิดพิธีฉลอง" ทำให้ "ชุมชนร่วมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น" "ชักนำจิตใจพวกเขาไปสู่ธรรมล้ำลึกแห่งเทศกาลหรือวันฉลอง" และทำนองเพลงควรเหมาะที่จะเป็นเพลง "ประกอบขบวนแห่เข้าของพระสงฆ์และศาสนบริกร" ตามที่ I.G. กำหนดไว้ใน I.G.26 ได้กำหนดไว้ว่า "หากไม่มีการร้องเพลงบทนี้ สัตบุรุษทั้งหมดหรือบางคน หรือศาสนบริกรผู้อ่านพระคัมภีร์ หรือพระสงฆ์เองภาวนาเนื้อร้องของบทนี้ (ในกรณีของพระสงฆ์ให้ภาวนาหลังการทักทายสัตบุรุษ)"

การคำนับพระแท่นและทักทายที่ประชุม

"เมื่อพระสงฆ์และศาสนบริกรเดินเข้าสู่สักการสถาน (บริเวณรอบพระแท่น = Sanctuary) พวกท่านคำนับพระแท่น และพระสงฆ์รวมทั้งศาสนบริกรขั้นสูงจูบพระแท่นด้วย เพื่อแสดงคารวะ และพระสงฆ์อาจถวายกำยานแด่พระแท่นด้วย (I.G.27)

การจูบพระแท่น ซึ่งในประเทศไทยได้ดัดแปลงให้เข้ากับขนบธรรมเนียมไทย เป็นพนมมือกราบบนพระแท่นนั้น เป็นการแสดงคารวะต่อที่ที่จะประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ พระแท่นเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระคริสตเจ้าเอง นี่เป็นความรู้สึกนึกคิดของคริสตชนแต่เดิมมา ครั้นถึงสมัยกลาง เพราะความนิยมนับถือมรณสักขี และขอให้ท่านอ้อนวอนพระเจ้าแทนตัวเขามีมากยิ่งขึ้น การคารวะพระแท่นจึงผันแปรไป เป็นการคารวะพระธาตุนักบุญซึ่งบรรจุบนพระแท่น โดยลืมนึกไปว่าผู้ที่เขาควรคารวะก่อนอื่นใดหมด คือพระคริสตเจ้า ซึ่งมีพระแท่นเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ตามที่เคยเชื่อถือกันมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ของพระศาสนจักรทีเดียว

เมื่อพระแท่นเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระคริสตเจ้า ทางวัดจึงควรจัดสร้าง และจัดพระแท่นให้สวยงามน่าเลื่อมใส น่าเคารพ

การถวายกำยานแด่พระแท่น (ซึ่งไม่บังคับ แล้วแต่จะเห็นสมควร) เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพคารวะ และหมายถึงคำภาวนาซึ่งลอยขึ้นถึงพระเบื้องบน นอกนั้น ควันกำยานที่ปกคลุมบริเวณสักการสถานทำให้เกิดบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์

"เมื่อเพลงแห่เข้าจบลงแล้ว พระสงฆ์และที่ประชุมทั้งหมดต่างทำเครื่องหมายไม้กางเขน ครั้นแล้วพระสงฆ์ทักทายสัตบุรุษ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางเขา โดยการทักทายและการตอบรับของประชาสัตบุรุษนั้น แสดงให้เห็นถึงธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรที่ร่วมชุมนุมกัน" (I.G.28)

คำทักทาย "พระเจ้าสถิตกับท่าน" (Dominus Vobiscum) เป็นคำทักทายของคริสตชนดั้งเดิมทีเดียว และนำมาใช้ในมหาบูชามิสซาอีกหลายหน เช่น ก่อนอ่านพระวรสาร และตอนเริ่มบทขอบพระคุณ (Praefatio)

ประโยคทักทายนี้มาจากพระคัมภีร์ (วนฉ 6:12 ลก1:28) เป็นการยืนยันว่าพระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางชุมชนที่ประชุมกัน

คำทักทายของพระสงฆ์มี 2 แบบคือ

"ขอให้ท่านจงได้รับพระหรรษทานของพระเยซูคริสตเจ้า ความรักของพระบิดา และความสัมพันธ์กับพระจิต" และ

"ขอให้ท่านจงได้รับพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเป็นเจ้า พระบิดา และจากพระเยซูคริสตเจ้า"

ทั้งสองแบบนี้พระศาสนจักรภาคตะวันตกได้นำมาใช้เพิ่มเติมในสมัยหลังๆ แต่สมัยแรกๆ นั้นใช้แบบเดียวคือ "พระเจ้าสถิตกับท่าน" ถ้อยคำทั้งสองแบบนี้มาจากจดหมายของนักบุญเปาโล (2คร.13:14; รม.1:7)

"หลังจากทักทายประชาชน พระสงฆ์หรือศาสนบริกาที่มีศักดิ์เหมาะสม อาจให้คำนำความสั้นๆ เกี่ยวกับมิสซาในวันนั้น" (I.G.29)

การสารภาพความผิด

"หลังจากนั้น (การทักทาย) พระสงฆ์เชิญชวนให้สารภาพความผิด ซึ่งกระทำในรูปสารภาพความผิดพร้อมกัน (General Confession) โดยประชาสัตบุรุษทั้งมวล และลงท้ายด้วยการให้อภัยบาปจากพระสงฆ์" (I.G.29)

นับตั้งแต่สมัยแรกๆ เป็นต้นมา คริสตชนต่างรู้สึกว่าจะต้องชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ก่อนจะมีส่วน
ในพิธีบูชามิสซา ซึ่งเป็นการติดต่อสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าเอง ในหนังสือ Didache ซึ่งเขียนประมาณปี ค.ศ.100 ก็ได้กล่าวไว้ในบทที่14 ว่า "พวกเขาร่วมประชุมกันในวันพระเจ้า กระทำพิธีบิขนมปังและขอบพระคุณพระเจ้า (พิธีบูชามิสซา) ผู้ที่ผิดพ้องหมองใจกับใคร จะต้องไม่ให้เข้าร่วมประชุมจนกว่าจะคืนดีกันเสียก่อน มิเช่นนั้น จะทำให้บูชาของท่านแปดเปื้อนมีมลทิน" นักบุญเปาโล เขียนไว้ว่า "ทุกคนต้องพิจารณาตนเอง (มโนธรรม) ก่อนจะรับพระกายและดื่มพระโลหิต" (1คร.1:28)

พิธีสารภาพความผิดนี้ นอกจากมีบท "ข้าพเจ้าขอสารภาพ" แล้ว ยังมีแบบอื่นอีก 2 แบบ พระสงฆ์ควรจะเลือกใช้ทั้งสามแบบไม่ให้ซ้ำกัน เพื่อมิให้เกิดความจำเจน่าเบื่อ หรือเพื่อให้เหมาะแก่วันฉลองหรือบทมิสซาในวันนั้นๆ

ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงพระกรุณาเทอญ (Kyne)

คำร้องขอพระเมตตา "กีรีเอ เอเลอิซอน" (ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงพระกรุณาเทอญ) ซึ่งเป็นภาษากรีก เมื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมลาติน ก็คงรักษาคำกรีกนี้ไว้ แต่เดิมคำร้องขอพระเมตตานี้ เป็นคำอ้อนวอนหลังจากแจ้งความต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าแต่ละครั้งในบทภาวนาเพื่อมวลชน (ทำนองบทรับ "โปรดเสด็จมาเถิดพระเจ้าข้า" ในปัจจุบัน) รูปแบบคำภาวนาเช่นนี้ยังคงเหลือให้เห็นเป็นตัวอย่างในพิธีวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีการประกาศ "ให้เราภาวนา - เชิญคุกเข่า สวดให้สมเด็จพระสันตะปาปา..." แล้วสัตบุรุษ "ข้าแต่พระเจ้าขอทรงพระกรุณาเทอญ" (กีรีเอ เอเลอีซอน) ในพิธีที่ใช้ภาษาลาติน จะเป็นดังนี้ Oremus ..flectamus genua..Omnipotens...Kyrie eleison

ครั้นถึงสมัยพระสันตะปาปา เกรโกรี่ พระองค์ทรงตัดรูปแบบภาวนาบทนี้ให้สั้นลง โดยตัดตอนที่ประกาศขอความต้องการออก รวมทั้งบทภาวนาอื่นด้วย จึงเหลือแต่คำว่า "กีรีเอ เอเลอิซอน" และนำมาแทรกในพิธีสารภาพความผิด แทนที่จะเป็นบทร้องขอพระเมตตาให้ทรงช่วยเหลือในภาคบทภาวนาเพื่อมวลชน ตั้งแต่เดิมมา

พระสิริรุ่งโรจน์ (Gloria)

เพลง "พระสิริรุ่งโรจน์" (Gloria) นับเป็นเพลงประเภท Hymn ที่เก่าแก่ที่สุดบทหนึ่งของคริสตชน "เป็นเพลงที่พระศาสนจักรที่ร่วมประชุมกันภายใต้การนำของพระจิตเจ้า สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา และสรรเสริญลูกแกะพระเจ้าและแสดงคารวะต่อพระองค์ท่าน" (I.G.31) การร้องเพลงนี้ เป็นการสอดคล้องกับคำเตือนของท่านนักบุญเปาโล ที่ว่า "จงขับร้องเพลงสดุดี และเพลงศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เพื่อขอบพระคุณพระเจ้าด้วยสุดจิตใจของท่าน" (คส.3:16) เพลงนี้มีลักษณะยอพระเกียรติพระเจ้า โดยเน้นถึงองค์พระบุตร น่าสังเกตุว่า บท Gloria นี้ แต่แรกมิได้ใช้ในมิสซา แต่ใช้ในบททำวัตรเช้า แล้วเริ่มมีการนำเข้ามาร้องในมิสซาคืนวันสมโภชพระคริสตสมภพ เพราะถือว่าเป็นเพลงที่เทพสวรรค์ร้องที่เบทเลเฮม (ลก.2:14) บทเพลงนี้ถือว่าเป็นเพลง "พิเศษสุด" ในระยะเริ่มแรก พระศาสนจักรให้พระสังฆราชเท่านั้นมีสิทธิพิเศษขับร้องเพลงนี้ได้ ในศตวรรษที่ 7 อนุญาตให้พระสงฆ์ขับร้องเพลงนี้ได้เฉพาะวันสมโภชปัสกาวันเดียว มาถึงศตวรรษที่ 11 จึงอนุญาตให้พระสงฆ์ขับร้องในมิสซาฉลองใหญ่ๆ ทั้งหลายได้

บทภาวนาแรกของประธาน (Collecta)

ในแคว้นโกลโบราณ ได้เริ่มใช้และเรียกบทภาวนาบทแรกของประธานว่า "Collectio" (ต่อมากลายเป็น Collecta ภาษาอังกฤษเรียก Collect) คือ เป็นบทภาวนาต่อหน้าชุมชนสั้นๆ อันเป็นการสรุปคำภาวนาอธิษฐานขอที่ประชุมทั้งหมด (Collect=รวบรวม, สรุป)

การที่พระสงฆ์เชิญชวนสัตบุรุษให้ภาวนาว่า "ให้เราภาวนา" แล้วหยุดนิ่งสงบสำรวมอยู่ครู่หนึ่งนั้น ประสงค์ "ให้ที่ประชุมสำรวมใจอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และวอนขอสิ่งที่ต้องการในใจ" (I.G.32)

การภาวนา (เดี่ยว) ของประธานในที่ชุมชนนี้ แสดงให้เห็นลักษณะของพิธีกรรมอย่างหนึ่งว่า โดยเสียงของพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธี เรากำลังอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาผ่านทางพระบุตรในองค์พระจิตเจ้า ที่ประชุมทั้งหมดจะร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวในคำภาวนานี้ และตอบรับ "อาแมน"

top

 

 

 

 

 

 

 

ภาคแรก: วจนพิธีกรรม

ภาควจนพิธีกรรม ความจริงพระศาสนจักรไม่ได้คิดค้นขึ้นมาเอง แต่เป็น "มรดก" ส่วนหนึ่ง ซึ่งได้รับมาจากการถือปฏิบัติของชาวยิวในพันธสัญญาเดิม ซึ่งถือปฏิบัติกันในโรงธรรม

 

จะเห็นได้ว่า แม้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและถือปฏิบัติแตกต่างกันบ้าง ณ ที่ต่างๆ ในพระศาสนจักรคาทอลิก ตามกาลเวลาที่ผ่านมา แต่ในเนื้อหาสาระสำคัญแล้วเหมือนกันมาก นักบุญยุสติน เขียนไว้ (ราว ค.ศ.150) ทำให้เราทราบว่า การถือปฏิบัติเช่นนี้สืบต่อมาจากธรรมเนียมของชาวยิว "มีการอ่านบันทึกความทรงจำของอัครสาวก และงานเขียนของบรรดาท่านผู้ทำนาย มากน้อยตามแต่เวลาจะอำนวยให้ผู้เป็นประธานพูดเตือนใจ ต่อจากนั้นทุกคนยืนและภาวนา" (I Apologia,67)

บทอ่านจากพระคัมภีร์

"บทอ่านจากพระคัมภีร์พร้อมกับบทเพลง (สดุดี) คั่นกลาง เป็นส่วนประกอบสำคัญของวจนพิธีกรรม และบทเทศนาเตือนใจ การยืนยันศรัทธาและบทภาวนาเพื่อมวลชน เป็นการขยายภาคนี้ให้กว้างขึ้นและสรุป เหตุว่าในการอ่านพระคัมภีร์และการเทศน์ ซึ่งเป็นการให้อรรถาธิบายนั้น พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์ (เทียบสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม แห่งสังคายนาวาติกันที่2 มาตรา33) และทรงทำให้พวกเขาทราบถึงธรรมล้ำลึกแห่งการกอบกู้ และความรอดและหล่อเลี้ยงวิญญาณ และโดยทางพระวาจาของพระองค์ พระคริสตเจ้าเองประทับท่ามกลางประชาสัตบุรุษ" (สังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม แห่งสังคายนาวาติกันที่ 2 มาตร7)(I.G.33)

การอ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์นี้ ไม่ใช่หน้าที่ของประธาน แต่ตามที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น เป็นหน้าที่ของศาสนบริกรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงคือ สังฆานุกร จะอ่านพระวรสาร ส่วนผู้อ่านพระคัมภีร์ (Lector) จะอ่านบทอ่านอื่นๆ สำหรับการอ่านพระวรสารนั้น "หากไม่มีสังฆานุกรหรือพระสงฆ์อื่น ณ ที่นั้น ให้ (ประธาน) ผู้ถวายมิสซาเป็นผู้อ่าน" (I.G.34)

ในพิธีกรรมจะต้องแสดงออกให้เห็นถึงการคารวะอย่างยิ่งต่อพระวรสารที่อ่าน โดยให้เกีรยรติอย่างพิเศษกว่าบทอ่านอื่นๆ ไม่ว่าในการเลือกผู้อ่านระดับศาสนบริกร หรือพระสงฆ์เอง หรือคำภาวนาเตรียมตัวเตรียมใจของผู้อ่าน การถวายกำยานหรือให้มีคนถือเทียนขนาบซ้ายขวาเป็นเกียรติแก่หนังสือพระวรสารที่จะอ่าน สัตบุรุษเองก็ต้องแสดงความคารวะอย่างพิเศษโดยการร้องเพลงแสดงให้เห็นการรับเสด็จพระคริสตเจ้ามาประทับ และตรัสกับพวกเขา และด้วยการยืนฟังและพนมมืออย่างมีความสำรวม

เพลงคั่นระหว่างบทอ่าน

"ประชาสัตบุรุษนำเอาพระวาจาที่ได้ฟังนี้มาเป็นของตนโดยการร้องเพลง....(I.G.33)

เพลงที่กล่าวถึงนี้ ปรกติเป็นเพลงสดุดี (Psalms) เพลงถวายสรรเสริญ (Acclamation) และเพลง Hymn

* เพลงสดุดี ในฐานะที่มาจากพระคัมภีร์เอง จึงเป็นส่วนหนึ่งแห่งการประกาศพระวาจาของพระเจ้าด้วย ตั้งแต่คริสตวรรษที่ 3-4 เป็นต้นมา เมื่อเพลงสดุดีนี้เป็นไปในรูปร้องโต้ตอบ ก็เป็นการประกาศพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสแก่ประชากรของพระองค์ และประชากรของพระองค์ทูลพระเจ้าของตน

* เพลงถวายสรรเสริญ (Acclamation) และเพลง Hymn บทเพลง "อัลเลลูยา" หรือเพลง Hymn อื่น ตามที่บ่งไว้ในแต่ละเทศกาลฉลองนั้น ขับร้องก่อนจะอ่านพระวรสาร คำว่า "อัลเลลูยา" เป็นภาษายิวแปลว่า "จงสรรเสริญพระยาเวห์" หรือ "พระยาเวห์จงทรงพระเจริญ" เป็นการร้องสรรเสริญแสดงความยินดีและชื่นชม

การเทศนาเตือนใจ (Homilia)

"การเทศนาเตือนใจ เป็นส่วนหนึ่งแห่งพิธีกรรม และขอแนะนำอย่างมากให้ปฏิบัติ (เทียบสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมมาตรา52) เป็นส่วนที่จำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน จะต้องเป็นการอธิบายบางแง่ในบทอ่านจากพระคัมภีร์ หรือข้อความ (text) อื่น จากภาคปกติ (Ordinarium) หรือภาคเฉพาะ (Proprium) ของมิสซาประจำวันนั้นๆ โดยให้คำยนึงถึงธรรมล้ำลึกที่กำลังฉลองในวันนั้นๆ หรือความต้องการพิเศษของผู้ฟัง

ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับนั้น มิสซาซึ่งถวายพร้อมกับสัตบุรุษ จะต้องมีการเทศนาเตือนใจเสมอ นอกนั้น ยังขอแนะนำให้มีการเทศน์ในระหว่างเทศกาลฉลองที่สำคัญ เช่น วันธรรมดาในเทศกาลปัสกา นอกนั้น ในโอกาสวันฉลองพิเศษอื่นๆ ตามที่สัตบุรุษเคยมีธรรมเนียมมาโบสถ์ด้วย" (I.G.41 Cf.S.Congr, Rituum, Instructio INTEROECUMENICI, 26 Sept, 1964, n.53; AAS55(1964,890)

การเทศนาเตือนใจหรือ Homilia นี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างกว่าการเทศน์ในรูปอื่น เช่น การเทศน์ประกาศสอนศาสนาให้คนกลับใจ (Evangelization) หรือการสอนข้อความเชื่อและคำสอน (Catechesis) การเทศน์เตือนใจหรือ Homilia ในขณะประกอบพิธีกรรมนี้ เป็นการอธิบายและโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้ปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเราทางบทอ่านจากพระคัมภีร์ เป็นต้น

การประกาศยืนยันศรัทธา (Credo)

"ในการถวายบูชามิสซา บทข้าพเจ้าเชื่อหรือการประกาศยืนยันความศรัทธา มีจุดประสงฆ์ให้ประชากรเห็นพ้อง และสนองตอบพระวาจาของพระเจ้าที่ได้ฟังในบทอ่านและการเทศน์ และให้ระลึกถึงกฏแห่งศรัทธา ก่อนที่จะเริ่มพิธีศีลมหาสนิท (I.G.44)

บทข้าพเจ้าเชื่อ ซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมโรมันคาทอลิก 900 กว่าปีมาแล้วนี้ หาใช่เป็นเพียงการท่องบทข้าพเจ้าเชื่อของคริสตชนแต่เพียงอย่างเดียวไม่ แต่ยังนับว่าเป็นบทสรุป "ประวัติแห่งความรอด" ซึ่งสัตบุรุษประกาศยืนยันศรัทธาของพระศาสนจักรที่มีมาแต่โบราณกาลในพระผู้เป็นเจ้าเดียว ศรัทธาเดียว ศีลล้างบาปเดียว รับรู้บุญคุณในพระเจ้า ความหวังของชุมชนที่รับศีลล้างบาปว่าได้ตายพร้อมกับพระคริสตเจ้าในศีลล้างบาปแล้ว ก็หวังที่จะมีส่วนร่วมพร้อมกับพระองค์ในความรุ่งเรืองในบั้นปลาย โดย "คอยชีวิตในภพหน้า"

สังเกตุว่า ทุกวันอาทิตย์และวันสมโภชหรือวันฉลองสำคัญ จะมีการประกาศยืนยันศรัทธา หรือบทข้าพเจ้าเชื่อ โดยพระสงฆ์พร้อมกับประชาสัตบุรุษในพิธีบูชามิสซา "อย่างสง่า" เสมอ ไม่ว่าในการร้องเพลงหรือการประกาศยืนยัน

บทภาวนาเพื่อมวลชน (Oratio universalis seu Oratio fidelium)

"ในบทภาวนาเพื่อมวลชน สัตบุรุษซึ่งทำหน้าที่สงฆ์ของตนต่างภาวนาเพื่อมนุษยชาติทั้งมวล ในมหาบูชามิสซา จึงควรมีธรรมเนียมภาวนาเช่นนี้พร้อมกับสัตบุรุษ เพื่ออุทิศแก่พระศาสนจักร แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง แก่ผู้มีความทุกข์ และมีความต้องการต่างๆ และแก่มนุษยชาติ รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์สุขของโลกทั้งมวล (I.G.45)

"ธรรมเนียมการภาวนาขอเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ มีดังต่อไปนี้

ก) ความต้องการของพระศาสนจักร
ข) ผู้ประสบทุกข์
ค) ผู้ปกครองบ้านเมืองและประโยชน์สุขของโลก
ง) ชุมชนวัดนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสพิเศษ เช่น ศีลกำลัง แต่งงาน ฝังศพ การภาวนาเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ นั้น อาจกำหนดให้เฉพาะเจาะจงลงไปตามโอกาส" (I.G.46)

น่าสังเกตว่า บทภาวนานี้สัตบุรุษมีบทบาทโดยเฉพาะ เพราะว่าสัตบุรุษเองก็มีหน้าที่ภาวนาเพื่อมนุษย์โลก อันเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของหน้าที่สงฆ์ ซึ่งสัตบุรุษทุกคนต่างมีส่วนในหน้าที่สงฆ์ของพระคริสตเจ้านี้ เมื่อได้รับศีลล้างบาปตั้งแต่เริ่มกำเนิดกลุ่มคริสตชนขึ้นมา ทุกคนต่างสำนึกในข้อนี้ นักบุญเปาโลเขียนเตือนพวกเขาว่า "ข้าพเจ้าขอเร่งเตือนท่าน ให้มีการภาวนาอุทิศแก่ทุกคน" (1ทธ.2:3) ในการถือปฏิบัติ นักบุญยุสติน ก็เขียนบรรยายไว้ ราว ค.ศ.150 ว่า "เราภาวนาร่วมกันสำหรับเราเอง และสำหรับมนุษยชาติทั่วโลก"

บทภาวนาเพื่อมวลชนนี้ มีกำเนิดและเกี่ยวข้องกับบทกีรีเอ ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อที่ว่าด้วยเรื่องนี้

 

ภาคสอง: ศีลมหาสนิท/ภาคปิดพิธี/ก่อนที่จะไปร่วมถวายบูชามิสซา