ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมิสซา คุณพ่อ วิศิษฐ์ หริพงศ์
ความหมายของการถวายบูชามิสซาl ภาคต่าง ๆของพิธี l ก่อนที่จะไปร่วมถวายบูชามิสซา l
ศีลมหาสนิทเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่พระเยซูเจ้าได้ประทานแก่ประชากรของพระเป็นเจ้า เพราะความรักอันเปี่ยมล้นของพระองค์ มีแต่พระองค์เท่านั้นผู้ทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ ที่ทรงมีพระประสงค์ และอำนาจที่จะกระทำการมหัศจรรย์เช่นนี้ได้ เพื่อจะประทับอยู่กับเรา เป็นความบรรเทา พละกำลัง ความสุขและสันติของเรา
คำว่า "ศีลมหาสนิท" (Eucharist=การขอบพระคุณ)
ประกอบด้วย
การถวายบูชา หรือมิสซา
การรับศีลมหาสนิท
การประทับอยู่อย่างแท้จริง ทั้งทางกายและทางธาตุแท้ (substance) ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทศีลมหาสนิทที่เป็นบูชายัญ หรือการถวายบูชามิสซา คือ
การถวายบูชายัญของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน ซึ่งได้รับการรื้อฟื้นทุกวันบนพระแท่นบูชา ตามพระประสงค์ของพระองค์เป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นหนึ่งเดียว และเป็นสายสัมพันธ์แห่งความรักของประชากรของพระเป็นเจ้า (ซึ่งมนุษย์ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ได้รับการเรียกให้มาเป็น)เป็นการเลี้ยงปัสกา ซึ่ง (ในการรับศีลมหาสนิท) พระเยซูคริสตเจ้าเอง ผู้ทรงเจริญชีวิตอย่างแท้จริงได้เข้ามาประทับ และทรงทำให้วิญญาณของเราเต็มไปด้วยพระหรรษทาน สันติ มีพลัง ความเชื่อ ความหวังและความรัก
มนุษย์ทุกคน จากทุกยุคทุกสมัย ได้ถวายบูชาแด่พระของตน ที่จริงแล้วเขาถือว่า การถวายบูชานี้เป็นกิจกรรมสูงสุดของศาสนา จริงๆ แล้ว มีบางครั้งในประวัติศาสตร์ที่พระเป็นเจ้าได้ตรัสล่วงหน้าถึงการถวายบูชาใหม่ และเป็นบูชาของมนุษย์ทั่วไป คือการบูชาของพระบุตรของพระองค์เอง
"เราไม่มีความโปรดปรานอันใดในตัวเจ้า พระเจ้าจอมโยธาได้ตรัสไว้ เราจะไม่รับบูชาใดๆ จากมือของเจ้า เพราะว่าจากดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก พระนามของเราจะยิ่งใหญ่ท่ามกลางนานาชาติ และในสถานที่ทุกแห่งเขาจะนำบูชามาถวายแด่พระนามของเรา และเป็นการถวายที่บริสุทธิ์ เพราะพระนามของเรายิ่งใหญ่ท่ามกลางนานาชาติ พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้" (มลค.1:10-11)
การถวายบูชาใหม่ที่ว่านี้คือ มิสซา ซึ่งเป็นการรื้อฟื้น มหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าบนพระแท่นของชาวเรา บนไม้กางเขนที่เขากัลวารีโอ พระเยซูเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่กู้เรา ในบูชามิสซาซึ่งถวายแด่พระเป็นเจ้าทุกวันทั่วโลก พระเยซูเจ้าได้โปรดประทานผลแห่งการกอบกู้แก่เรา การถวายบูชาทั้งหลายในอดีตรวมกันก็ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะชดเชยบาปของเราได้ มีแต่การถวายบูชามิสซาของพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่นำมาซึ่งความเต็มเปี่ยมแห่งการกอบกู้
"เพราะว่า ถ้าหากว่าเลือดแพะและเลือดวัว และการโปรยเถ้าของลูกวัวสาวยังทำให้ผู้กระทำผิดได้กลับเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว พระโลหิตของพระเยซูเจ้า ผู้ซึ่งโดยพระประสงค์แต่นิรันดร ที่จะถวายพระองค์เองผู้ไม่มีมลทินแด่พระเป็นเจ้า จะสามารถชำระจิตใจของเรา การงานที่ไม่มีคุณค่า เพื่อเป็นการคารวะแด่พระเป็นเจ้าสักเพียงไร"(ฮบ.9:13-14)
พูดถึงความจริงที่ยิ่งใหญ่ของการถวายบูชามิสซา นักบุญเปาโล ได้ประกาศว่า ถ้าท่านมิได้พูดอะไรด้วยตัวท่านเอง แต่ว่าได้เรียนรู้มิสซาคืออะไร จากการไขแสดงของพระเป็นเจ้าเอง
"คำสอนที่ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านนี้พระเป็นเจ้าประทานให้ข้าพเจ้า คือในคืนที่พระเยซูเจ้าถูกทรยศนั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปังขึ้นมา ขอบพระคุณพระเจ้า แล้วทรงบิออก ตรัสว่า นี่คือกายของเราสำหรับพวกท่าน จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเรา ดังนั้น เมื่อท่านรับประทานปังและดื่มจากถ้วยนี้ ท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จมา" (คร.11:23-26)
คำพูดเหล่านี้ไม่ปล่อยช่องว่างให้เราสงสัยได้เลย พระเยซูเจ้าจะต้องเสด็จกลับไปหาพระบิดา แต่พระองค์ก็ทรงทราบว่า มนุษย์ต้องการพระองค์ ดังนั้น พระองค์ได้ทรงคิดหาไม่เพียงหนทางที่จะช่วยพวกเขาให้รอดเท่านั้น แต่ยังทรงคิดหาวิธีที่จะประทับอยู่กับพวกเขา เพื่อจะได้โปรดประทานผลแห่งการไถ่กู้ให้แก่พวกเขาด้วย
กับพระวาจาที่ว่า "นี่คือกายของเรา ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่แห่งโลหิตของเรา" และกับพระวาจาที่ว่า "ทุกครั้งที่ท่านกินปังนี้ และดื่มจากถ้วยนี้ ท่านก็ประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมา"(1คร.11:24-26) พระเยซูเจ้ามีพระประสงค์จะให้ความมั่นใจแก่ชาวเราว่า แม้ว่าหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนไม้กางเขนแล้ว พระองค์จะทรงรื้อฟื้นการถวายบูชาของพระองค์นี้อย่างแท้จริง ในรูปแบบที่มองไม่เห็นแต่เป็นจริงเที่ยงแท้ และชาวเราก็สามารถที่จะได้รับพระหรรษทานจากพระองค์ พร้อมทั้งความมุมานะ ที่จะรอคอยการเสด็จกลับมาของพระองค์
เป็นความจริงดังที่ท่านได้เคยพูดไว้ว่า การบูชาของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนก็เพียงพอแล้ว แต่ว่าเป็นการจำเป็นที่จะมีส่วนร่วมในการบูชานี้ เพื่อว่ากิจกรรมอันนำมาซึ่งความรอดของพระเยซูเจ้านี้จะได้สัมผัสกับชีวิตเรา
มิสซา จริงๆ แล้ว เป็นรูปแบบของการถวายบูชายัญบนภูเขากัลวารีโอ เครื่องบูชาก็คือ องค์พระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องบูชาเดียวกับบูชามิสซา เพียงแต่รูปแบบของการถวายบูชาเท่านั้นที่เปลี่ยนไป บูชาบนภูเขากัลวารีโอ พระเยซูเจ้าได้ทรงหลั่งพระโลหิตอันแท้จริง ในบูชามิสซาพระองค์ได้ทรงถวายพระองค์เองแด่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของพระองค์ในรูปแบบที่ไม่มีโลหิต แต่เป็นธรรมล้ำลึกที่ไม่อาจเข้าใจได้
ในบูชามิสซา พระเยซูเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริงใน 3 วิธีการ
วิธีการแรก คือ พระวาจาของพระองค์ ในบทอ่านจากพระคัมภีร์
เป็นพระคริสตเจ้าเองที่ตรัสกับเรา เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราจะต้องฟัง รำพึง เชื่อและเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา
"พระโอวาทของพระเจ้ายังคงดังก้องอยู่ในหู และรับสั่งแก่เขาอยู่เสมอ พระดำรัสนั้นคมยิ่งกว่าดาบสองคมแทงทะลุกระทั่งชีวิตและจิตวิญญาณ ตัดข้อต่อและกระดูกดำให้ขาดออกจากกัน ทั้งจะตัดสินความปรารถนาและความคิดในใจมนุษย์" (ฮบ"4:12)
โดยเฉพาะในวันอาทิตย์และวันพระเจ้า พระวรสารจะตามด้วยบทเทศน์ และการภาวนาทั่วไปคือ บทภาวนาเพื่อมวลชน วันอาทิตย์เป็นวันที่พวกอัครสาวกถือแทนวันเสาร์ พวกท่านได้ทำดังนี้ก็เพื่อเป็นการระลึกถึงการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ในวันนั้นประชากรของพระเป็นเจ้ามีข้อผูกมัดที่จะถวายคารวะภายนอกแด่พระเป็นเจ้า โดยผ่านทางบูชามิสซา
วิธีการที่สอง และเป็นวิธีที่สมบูรณ์ที่สุด ในการที่พระเยซูเจ้าจะสถิตในการถวายบูชามิสซา คือระหว่างและหลังการเสกปังและเหล้าองุ่น การเสกนี้เป็นเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์และสง่าที่สุดของมิสซา เป็นการรื้อฟื้นการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย
ของพระเจ้าบัดนี้ ในความสงบเงียบที่ระทึกใจนี้ การสิ้นประชนม์ของพระเจ้าบนไม้กางเขน เพื่อเราจะได้รับการรื้อฟื้น พระสงฆ์เปล่งถ้อยคำซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อแท้ทั้งหมดของปัง และเหล้าองุ่นให้กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ในพระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้านี้เอง ที่พระสงฆ์กล่าวอย่างชัดเจนและเต็มไปด้วยความเคารพว่า
นี่คือกายของเรา
นี่คือถ้วยโลหิตของเรา
การเปลี่ยนแปลงเนื้อแท้ (transubstantiation) อย่างเป็นผลดังนี้ ก็เนื่องจากอำนาจอันไม่มีขอบเขตของพระเป็นเจ้าเอง "เป็นการเปลี่ยนอย่างอัศจรรย์ของเนื้อแท้" (substance) ดังที่นักบุญโทมัสได้กล่าวไว้ว่า "เป็นกิจการที่จะกระทำได้โดยพระเป็นเจ้าเท่านั้น ดังนั้น พระสงฆ์จึงไม่มีส่วนอื่นใด นอกจากจะกล่าวคำเหล่านั้น" (Summa Theol.III a,q, 78,a,l)
หลังการเสกศีลมหาสนิท พระคริสตเจ้าประทับบนพระแท่นอย่างแท้จริง มีแต่สิ่งปรากฏภายนอก (สี รสฯลฯ) ของปังและเหล้าองุ่นที่ยังคงอยู่ พระเยซูคริสตเจ้า เนื้อและเลือด กายและวิญญาณ พระเทวภาพและสภาพมนุษย์ประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏเหล่านี้
บูชามิสซาเป็นงานเลี้ยง
วิธีการที่สาม ที่พระเยซูเจ้าสถิตอยู่ในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ก็คือ การรับศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นปังทรงชีวิต
"ในระหว่างการรับประทานอาหาร พระเยซูเจ้าทรงหยิบปัง กล่าวคำขอบพระคุณ บิออก แล้วยื่นให้สานุศิษย์ตรัสว่า รับเอานี่ไปกิน นี่คือกายของเรา แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วยองุ่น ขอบพระคุณ ประทานแก่สาวกพลางตรัสว่า รับถ้วยนี้ไปดื่มให้ทั่วกัน นี่เป็นโลหิตของเรา" (มธ 26-26-27)
คริสตชนในสมัยแรกเริ่มได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมทางพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และพวกเขาได้ชิดสนิทกับพระเยซูเจ้าโดยการรับศีลมหาสนิท เมื่อเขียนถึงชาวโครินธ์ นักบุญเปาโล เตือนสติพวกเขาถึงข้อความจริงอันยิ่งใหญ่นี้ เพื่อพวกเขาจะได้รับพระเยซูเจ้าอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นเสมอ และไม่ควรจะรับพระองค์อย่างไม่เหมาะสม
"ถ้วยที่เราเสกนั้น มิใช่เป็นการมีส่วนในพระโลหิตของพระคริสตเจ้าดอกหรือ และปังที่เราบินั้นมิใช่เป็นการมีส่วนในพระกายของพระคริสตเจ้าดอกหรือ" (1คร.10:16)
"ท่านจะดื่มจากถ้วยของพระผู้เป็นเจ้าและถ้วยของภูตผีปีศาจด้วยก็ไม่ได้ ท่านจะรับประทานจากโต๊ะของพระผู้เป็นเจ้า และโต๊ะของปีศาจด้วยก็มิได้" (1คร.10:21)
"ทุกคนควรจะสำรวมใจตัวเองให้ดีเสียก่อน จึงจะรับประทานขนมปัง และดื่มจากถ้วยนั้น เพราะผู้ที่ไม่ตระหนักถึงความหมายของพระวรกายขององค์พระเป็นเจ้า เมื่อรับประทานปังและดื่มจากถ้วยนั้น ก็เท่ากับหาโทษมาใส่ตัว" (1คร.11:28-29)
เพื่อให้ทุกคนสามารถรับศีลมหาสนิทได้อย่างสะดวก พระศาสนจักรได้เปลี่ยนแปลงกฏข้อบังคับเกี่ยวกับการอดอาหาร อดน้ำ ดังนั้น ในทุกวันนี้ เราจะต้องอดอาหารหนักและเครื่องดื่มอื่น ยกเว้นน้ำ เพียงหนึ่งชั่วโมงก่อนการรับศีลมหาสนิท น้ำเปล่าดื่มได้ทุกเวลา
สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ก็มีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ เขาจะรับประทานยาได้ทุกเวลาก่อนรับศีลมหาสนิท อดอาหารหนัก 15 นาทีก่อนรับศีลมหาสนิท คำว่า ผู้สูงอายุ ย่อมหมายถึงผู้ที่อยู่บ้านพักคนชรา
บูชามิสซานำมาซึ่งความสนิทสัมพันธ์ของประชากรของพระเป็นเจ้าทั้งมวล นั่นคือทั่วทั้งโลก เนื่องจากว่าประชากรใหม่ของพระเป็นเจ้า ตามพระประสงค์ของพระเยซูเจ้าจะต้องรวมทุกคน ไม่ว่ายิวหรือคนต่างศาสนา เพราะว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อไถ่กู้มนุษย์ทุกคน "จงรักกันและกัน ดังที่เรารักท่าน"(ยน.13:34)
เมื่อบูชามิสซาสิ้นสุดแล้ว พระเยซุเจ้าก็ยังคงสถิตอยู่ในศีลมหาสนิท ธรรมเนียมของการเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้หลังมิสซาเกิดขึ้น เพราะความต้องการที่จะเป็นศีลเสบียงสำหรับคนเจ็บป่วย และแจกศีลให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมบูชามิสซาได้ จึงได้เกิดมีการเฝ้าพระเยซูเจ้าผู้สถิตในศีลมหาสนิทขึ้นตามวัดต่างๆ และภาวนาต่อพระองค์แม้มิสซาจบแล้วก็ตาม
เมื่อทราบถึงพระประสงค์ของพระอาจารย์เจ้าแล้ว เราคริสตชนจึงพยายามที่จะร่วมถวายบูชาไม่เฉพาะแต่วันอาทิตย์และวันฉลองเท่านั้น แต่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้แม้กระทั่งทุกวัน อยู่ร่วมเมื่อพระเยซูเจ้าถวายพระองค์เองต่อไปแด่พระบิดาเจ้าสวรรค์ ในบูชามิสซาเราทราบดีว่ากำลังนมัสการขอบพระคุณและชดเชยบาปต่อพระเป็นเจ้าอย่างเหมาะสมที่สุด เราทราบดีว่าเราเจริญขึ้นในชีวิตวิญญาณ และรับพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้าเพื่อตัวเราเอง และเพื่อผู้ที่เรารักด้วย ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือจากไปแล้ว เพราะว่าในบูชามิสซาเป็นพระเยซูเจ้าเองที่วิงวอนต่อพระบิดาเพื่อเราทั้งหลาย