เทคนิคการถามลูก

ที่มา : ชลอศักดิ์ ลักษณะวงศ์ศรี นิตยสารใกล้หมอ


 

 

พ่อแม่ทุกคนเคยถามลูกวัยรุ่น มีพ่อแม่บางคนเท่านั้น ที่ลูกวัยรุ่นไม่แสดงอารมณ์ที่ไม่ดีเมื่อถามเขาแต่มีพ่อแม่น้อยคนมากที่ลูกวัยรุ่นอยากให้ถาม ธรรมชาติของวัยรุ่นชอบการพูดคุย ในกลุ่มวัยรุ่นทุกกลุ่มแทบจะหาคนฟังไม่ได้ มีแต่คนอยากพูด อยากคุยในเรื่องต่างๆ เป็นพฤติกรรมปกติของวัยรุ่นที่มีสุขภาพจิตที่ดี การถามที่ดีเร้าให้เกิดการพูดคุยได้ พ่อแม่ของลูกวัยรุ่นที่อยากจะให้ลูกพ้นจากภัยของยาเสพติด และเรื่องเพศ ต้องฝึกที่จะถาม

ถามในสิ่งที่ลูกอยากจะตอบ เรื่องราวที่ลูกกำลังสนใจไม่ว่าเกี่ยวกับกิจกรรม บุคคล สถานที่ ด้วยท่าทีที่อยากจะรู้จริงๆ ถ้าเคยรู้ เคยมีประสบการณ์ก็แบ่งปันข้อมูล แต่ถ้ารู้เรื่องนั้นมาก่อนเป็นอย่างดีก็ควรถาามถึงทัศนคติของเขาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ถามคำถามที่ลูกจำเป็นต้องอธิบายหรือเล่นนานๆ ไม่ควรใช้คำถามที่ตอบเพียงว่าใช่ , ไม่ใช่ , รู้หรือไม่รู้ เท่านั้น คำถามเหล่านี้มักจะลงท้ายด้วยคำว่าอะไร อย่างไร

ถามคำถามที่ลูกเป็นเสมือนผู้แนะนำ พยายามหาคำอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจ นับว่าเป็นการถามชั้นสูง แต่ต้องไม่ให้ถูกจับได้ว่าแกล้งโง่ ดังนั้นเรื่องราวที่พ่อแม่แปลกใจ ในยุคสมัยของลูก ค่านิยมที่ตามไม่ทันน่าจะเป็นคำถามที่พ่อแม่ควรถาม ยกตัวอย่างเช่น คำศัพท์บางคำ ภาษาที่ใช้พูด เหตุการณ์บางเหตุการณ์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากทำให้พ่อแม่เข้าใจ เรื่องราวของลูกแล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจอีกด้วย

เวลา สถานที่ ที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้บรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปด้วยดี แต่จุดประสงค์ของการถามเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะลูกวัยรุ่นจะรับรู้ได้จากท่าทางที่แสดงออก และควรหลีกเลี่ยงคำถามที่คาดคั้น ถามคำถามเพื่อเอาความจริง เพราะเป็นจุดประสงค์ของตำรวจสืบสวนสอบสวน ไม่ใช้คำถามเพื่อต้องให้จนมุม เพราะการถามแบบนั้นเป็นจุดประสงค์ของทนายซักค้านและไม่ถามคำถามเพื่อที่จะสั่งสอน ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนั้น ทุกครั้งที่จะถามก็เพื่อสร้างสัมพันธภาพ เพื่อให้เข้าใจลูกวัยรุ่นของเรา ดังนั้นเมื่อถามแล้วสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น

รักชีวิต ป้องกันยาเสพติด เดี๋ยวนี้