บทความจากชมรมผู้สูงอายุ วัดแม่พระกุหลาบทิพย์
ความดันโลหิตกับการรักษาสุขภาพ
โดย รองศาสตราจารย์ อมรินทร์ ปรีชาวุฒิความดันโลหิต
หัวใจบีบอัดแรงฉีดโลหิตสูงไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทางเส้นเลือดแดง เป็นค่าความดันตัวแรก และแรงฉีดต่ำกว่าที่เส้นเลือดแดงคลายตัว ซึ่งเป็นท่าที่หัวใจคลายตัวในท่าพักเป็นค่าความดันตัวที่สอง ต่อมาเลือดจะกลับจากอวัยวะมาทางเส้นเลือดดำเข้าหัวใจ เพื่อฉีดไปที่ปอดและรับออกซิเจนแล้วไหลกลับสู่หัวใจ
เมื่อวัดค่าความดันจึงมีเลขคู่หนึ่ง เป็นแรงดันที่ หัวใจบีบตัว คู่กับ หัวใจคลายตัว เช่น คนปกติ 120/80 คนที่มีความดันสูง 155/98
หัวใจบีบตัวแรงเกินไปกว่าปกติ แสดงว่าหัวใจต้องทำงานหนักผิดปกติ ความดันจะสูงผิดปกติ และจะเกิดผลหัวใจโตในระยะยาว และเจ็บป่วย เพราะความดันสูง เลือดพุ่งไปสู่อวัยวะทั่วร่างกาย เช่น สมอง ตา ไต ปลายสุดของแขนขา ที่แรงมาก จะมีผลเสียหายต่อ ทุกอวัยวะ ที่สำคัญเช่น
- สมอง มีอาการปวดหัว หลอดเลือดฝอยอาจแตก มีเลือดออกในสมอง สิ้นสติล้มพับไป เกิดอัมพาต
- ตา ความดันน้ำลูกตา สูงจนระเบิด เลือดออกในตา ตามองเห็นไม่ชัดเจนและเห็นผิดปกติ และตามัว ตาบอดได้
- ไต เส้นเลือดฝอยที่ไตหนาขึ้น และรูแคบ ทำให้กรองปัสสาวะไม่ดี สะสมของเสียในเลือดมากขึ้น เป็นโรคไตที่ต้องการฟอกเลือดด้วยไตเทียม
- เส้นเลือดแดง เส้นเลือดแดงทั่วร่างกายแข็งขึ้น ส่งผลให้ร่างกาย ส่วนหัวใจและไตต้องทำงานหนักขึ้นไปเรื่อย ๆ
- โรคหัวใจ ออกอาการเหนื่อยหอบง่าย หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก หัวใจวาย
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะเริ่มมีคู่ความดันสูงขึ้น ๆ แบบขนานกันไป ต้องกินยาควบคุมรักษาให้ความดันต่ำลง
ความล้มเหลวในควบคุมค่าความดัน มักจะสูงแบบไม่ขนานกัน เพราะในวัยสูงขึ้นของหลาย ๆ คน พบว่าค่าความดันจากการคลายตัวของหัวใจจะลดลงได้เอง แต่ค่าความดันหัวใจบีบตัวไม่ลดลง แต่ถีบตัวสูงขึ้น ๆ ค่าความดันตัวแรกจึงสำคัญกว่าตัวที่สอง ถ้าไม่กินยาคุมความดัน กรณีนี้จะเกิดปัญหาได้มากต่อความเจ็บป่วยใน 5 ข้อดังกล่าวมาแล้ว
ผู้สูงอายุจึงควรตรวจความดันเลือดบ่อย ๆ ที่ค่าบีบตัวของหัวใจบ่อย ๆ และสำคัญกว่าค่าความดันหัวใจคลายตัว และต้องคุมให้ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท
ในผู้ที่มีวัยที่ต่ำกว่า 50 ปี ค่าความดันตัวที่สองที่หัวใจคลายตัวจะสำคัญกว่าค่าความดันตัวแรก และมีผลต่อความเจ็บป่วยใน 5 ข้อดังกล่าวเหมือนกับผู้สูงอายุ
ข้อแนะนำเมื่อจะวัดความดันโลหิต
- งดกาแฟและบุหรี่ก่อนการวัดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
- ถ่ายปัสสาวะก่อนตรวจ (ปวดปัสสาวะทำให้ค่าความดันสูงขึ้น)
- ก่อนวัดความดัน ให้นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที วางแขนวัดที่ระดับหัวใจ
- วัดค่าสองครั้ง แต่ละครั้งนานห่างกัน 2 นาที แล้วเฉลี่ยค่าทั้งสอง
ถ้าผลวัดความดันเลือดสูงเกิน 120/80 แต่ไม่เกิน 140/90 แสดงค่าเสี่ยง มีความดันสูงอย่างอ่อน ๆ
ถ้าผลวัดความดันเลือดสูงเกิน 140/90 แสดงว่ามีความดันโลหิตสูง
การควบคุมความดันโลหิตสูง
- ปรับเปลี่ยนนิสัยไม่ดี
- งดเหล้า
- งดบุหรี่
- งดกาแฟ
- งดของเค็ม
- งดอาหารไขมัน อาหารทอด
- บำรุงร่างกาย และออกกำลังกาย
- เพิ่ม *ผลไม้ *ผัก *ธัญญพืช *ถั่ว *เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน *เพิ่มแร่ธาตุโปแตสเซี่ยม *แคลเซี่ยม *แมกนีเซี่ยม
- บริหารร่างกาย *ชั่งน้ำหนัก (คุมน้ำหนัก) *วัดชีพจร *วัดความดัน
- กินยาควบคุม และตรวจวัดความดันเลือดบ่อย ๆ
ยาลดความดัน มีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มขับปัสสาวะ กลุ่มลดปริมาณเลือดในหลอดเลือด กลุ่มชะลอการเต้นของหัวใจ กลุ่มขยายหลอดเลือด
ผู้ป่วยบางรายใช้ยาชนิดเดียว บางรายใช้หลายชนิด ทำตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาสม่ำเสมอทุกวัน และพยายามตรงเวลา เมื่อความดันลดลงต้องระวังเวลาลุกขึ้นต้องลุกนั่งช้า ๆ และพักท่านั่งก่อนยืน เพราะเลือดอาจสูบฉีดไปสมองไม่ทัน ทำให้หน้ามืด เป็นลม ล้มลง
ยากลุ่มขับปัสสาวะจะขับเกลือ ลดเกลือโซเดียมชะลอการเต้นของหัวใจ แต่ลดโปแตสเซียม และลดแร่ธาตุที่ดี ๆ ทิ้งไปด้วย จึงอาจเกิดตะคริวกล้ามเนื้อง่าย ๆ ผู้ป่วยจึงต้องบำรุงโดยเสริมแร่ธาตุโปแตสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม จากการกินผักและผลไม้ทดแทนมาก ๆ
อย่ากินยาหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน อาจปวดปัสสาวะกลางคืน ต้องลุกมาห้องน้ำบ่อย อาจความดันต่ำเพราะฤทธิ์ยาจนเป็นลมล้มลงขณะไปห้องน้ำ ถ้าลืมกินวันนั้นให้เลื่อนไปกินวันรุ่งขึ้น และห้ามกิน 2 เท่า ยาที่เม็ดใหญ่กลืนลำบาก ก็ห้ามบดหรือเคี้ยว แต่บอกหมอเพื่อเปลี่ยนยาชนิดที่เม็ดเล็ก ๆ หรือเลือกชนิดที่บดได้
ขอให้ท่านมีสุขภาพดี ขอพระประทานพรท่านผู้สูงอายุทุกท่าน
ชมรมผู้สูงอายุ วัดแม่พระกุหลาบทิพย์
12 ธันวาคม 2547