โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
สถิติการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
พยาธิกำเนิดของเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
อาการของโรค
การป้องกันเส้นเลือดหัวใจตีบ
การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
โรคเส้นเลือดตีบตัน
หมายถึง โรคที่เกิดจากภาวะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบหรือตันซึ่งเป็น ผลจากภาวะไขมันสะสม
ที่ผนังด้านใน ของเส้นเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยง ถ้าเป็นรุนแรงก็จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายขึ้น
ภาพแสดงเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เรียกว่า
เส้นเลือดแดงโคโรนารี่
สถิติการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ทุกๆปี สถิติผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วโลก
ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปีที่ผ่านมาประมาณว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคดังกล่าว
สูงถึงกว่า 10 ล้านคน และคาดว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า จำนวนการตายจะเพิ่มขึ้นเป็น
20 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 13 ล้านคนมาจากประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก
ในประเทศไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นถึง
20 เท่าโดยเฉพาะ ในพื้นที่ ภาคกลาง และภาคเหนือ ทั้งนี้เนื่องจากการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา
อันได้แก่การนิยมบริโภคอาหารแบบฟาสต์ฟู้ด
พยาธิกำเนิดของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
เกิดจากภาวะเส้นเลือดตีบแข็งที่เรียกว่า
Atherosclerosis ซึ่งเริ่มก่อตัวตั้งแต่วัยเด็กและค่อยๆ พอกตัวบริเวณผนังภายใน
เส้นเลือดทั่วร่างกาย จนทำให้เส้นเลือดตีบตัน และแสดงอาการของการขาดเลือดมาเลี้ยงในที่สุด
ภาพแสดงเส้นเลือดแดงโคโรนารี่ปกติ
ภาพแสดงเส้นเลือดแดงโคโรนารี่ตีบจากแผ่นไขมันเกาะที่ผนังด้านใน
อาการของโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย
บางรายมีปวดร้าวขึ้นไปตามคอ อาการเป็นมากขึ้นเวลา ออกแรง นั่งพักจะดีขึ้น ในรายที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบมากจนตัน
จะทำให้มีการขาดเลือดอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ จนเกิดภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด
ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง กระสับกระส่าย เหงื่อออกตัวเย็น ถ้านำส่งโรงพยาบาล
ไม่ทัน ก็อาจเสียชีวิตได้
การป้องกันเส้นเลือดหัวใจตีบ
ทำได้โดยการกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เป็นสาเหตุของการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ในต่างประเทศพบว่า การปรับเปลี่ยน พฤติกรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
พร้อมกับการปรับ สภาพแวดล้อม สนับสนุนทางสังคมและทางกายภาพ จะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่าครึ่ง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ได้แก่
เพศ
พบว่าเพศชายมีอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้มากกว่าเพศหญิง 3 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง
5 เท่า
ประวัติครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันก่อนวัยอันควร(ผู้ชาย อายุน้อยกว่า
55 ปี,ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี)จะมีความเสี่ยงที่ จะเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
จากการศึกษาพบว่า
ผู้ชายที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเพิ่มอัตราเสี่ยงเป็น 2-20เท่าของผู้ชาย
ที่ไม่มี ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
หมายเหตุ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆมีผลต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงแต่จะมีผลกระทบไม่เท่ากันในเพศต่างกัน
เช่น
• โรคเบาหวานและอัตราส่วน HDL/total cholesterol ต่ำ มีผลในผู้หญิงมากกว่า
• การสูบบุหรี่มีผลในผู้ชายมากกว่า
• ภาวะความดันโลหิตสูงมีผลต่อทั้งสองเพศ
ภาวะไขมันในเลือดสูง
โคเลสเตอรอลสูง โอกาสการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันจะเพิ่มขึ้นตามระดับโคเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้น
ภาวะต่อไปนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
โคเลสเตอรอลรวม(Total cholesterol)
และ LDL cholesterol สูง
HDL cholesterol ต่ำ(จากการศึกษาของ
Framingham พบว่าอัตราเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเพิ่มขึ้น 25%สำหรับทุกๆ
5mg/dL ที่ลดลงต่ำกว่าค่ามัธยฐานของ HDL cholesterol ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง)
Total cholesterol/HDL cholesterol ratio(อัตราส่วนระหว่างโคเลสเตอรอลและHDL)สูง
จากการศึกษาพบว่า
• ในผู้ชายที่มีค่า ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 6.4 จะมีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2-14%เทียบกับในกลุ่มที่มีค่า
total cholesterol หรือ LDL cholesterol ระดับเดียวกัน
• ในผู้หญิงที่มีค่า ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 5.6 จะมีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้น 25-45%เทียบกับในกลุ่มที่มีค่า
total cholesterol หรือ LDL cholesterol ระดับเดียวกัน
ในทางตรงกันข้ามในคนที่มีระดับratio เดียวกัน แม้มีระดับ total cholesterol or
LDL เพิ่มขึ้นก็ไม่ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ไตรกลีเซอไรด์(Triglyceride) สูง,ระดับ Lp(a)(=เป็นไขมันที่เกาะรวมอยู่กับโปรตีนชนิดหนึ่ง
เรียกว่า lipoprotein a) สูง
การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง เน้นที่การคุมอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูงร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าไม่ได้ผลจึงใช้ยาลดไขมันในเลือด
ผลดีของการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง สามารถลดอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ
ขาดเลือดและอัตราการเสียชีวิต จากโรคหัวใจ ได้ ทั้งในคนที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อนและผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว
ความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงทำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจโตและเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด,หัวใจล้มเหลว,การเสียชีวิต
ฉับพลัน,การเกิดโรคอัมพาตจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง
ความดันโลหิตที่สูงไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตตัวบน(systolic
blood pressure) หรือความดันโลหิตตัวล่าง(diastolic blood pressure)ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจและเส้นเลือดสมองตีบตันได้แต่จะมีผลไม่เท่ากันในอายุที่ต่างกัน
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่า 50ปี ความดันตัวล่างจะมีผลต่ออัตราเสี่ยงมากที่สุด
ผู้ที่อายุ 50-59 ปี ความดันโลหิตทั้งตัวบน ตัวล่างและค่า pulse pressure (ค่าความแตกต่างระหว่าง
ความดันโลหิตตัวบนและตัวล่าง) มีผลต่ออัตราเสี่ยงพอๆกัน
ผู้ที่อายุมากกว่า
หรือเท่ากับ 60ปี ค่า pulse pressure จะมีผลต่ออัตราเสี่ยงมากที่สุด
การรักษา
โดยการควบคุมอาหาร จำกัดอาหารเค็ม ร่วมกับการใช้ยาลดความดันโลหิตในราย ที่ความดันสูงมากหรือเริ่มมีการ
ทำลายอวัยวะ ภายในร่วมด้วย
ผลดีของการรักษา สามารถช่วยลดการเกิดภาวะอัมพาตจากสมองขาดเลือด,การเกิดหัวใจล้มเหลว
รวมทั้งภาวะหัวใจขาดเลือดได้
Pulse pressure(ค่าความแตกต่างระหว่างความดันโลหิตตัวบนและตัวล่าง)
ในรายที่มีค่า pulse pressure เพิ่มขึ้น จะเพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เบาหวานและภาวะการควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี(
glucose intolerance)
เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะเส้นเลือดแข็งตีบตัน(atherosclerosis)โดยเฉพาะในผู้หญิง
การรักษา โดยการควบคุมอาหารจำกัดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
ร่วมกับการใช้ยาลดระดับน้ำตาล
ภาวะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
การเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นหลังหมดประจำเดือน
เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
การรักษา โดยการให้ฮอร์โมนเสริมที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนและโปรเจสติน
ปัจจัยที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต(Lifestyle factors)
• การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ช่วยป้องกันการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ถึง
23% นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่ม ระดับ HDL cholesterol,ลดความดันโลหิต,ลดน้ำหนักและช่วยให้การคุมเบาหวานดีขึ้น
• การสูบบุหรี่
เป็นตัวการสำคัญของการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ในผู้ที่สูบบุหรี่วันละอย่างน้อย 20 มวนจะเพิ่มอัตราการเกิด กล้ามเนื้อ
หัวใจตาย 3 เท่า ในผู้ชาย และ 6 เท่าในผู้หญิงเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งคนที่สูดควันบุหรี่ก็มีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย
-อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำลดลง50%
ภายใน 1 ปีของการหยุดสูบบุหรี่ และกลับมาเท่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ภายใน 2 ปี
-ประโยชน์ของการเลิกสูบบุหรี่จะยังคงอยู่ไม่ว่าจะเคยสูบมานานหรือสูบมามากเท่าไรก็ตาม
• อาหาร
นอกจากอาหารที่มีไขมันสูงจะเป็นตัวทำให้เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันแล้ว
ยังพบว่าการทานผัก ผลไม้และอาหารที่มีเส้นใย อาหาร สูงจะช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันและอัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบตัน
การทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงจะช่วยลดอัตราการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันและอัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบตันลงได้ถึง
40-50% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทานเส้นใยอาหารต่ำ
• การดื่มสุรา
มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า การดื่มสุราในขนาดที่เหมาะสมจะช่วยลดอัตราการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้
จากการศึกษาผู้ชายและผู้หญิงในอเมริกา 490,000รายที่ดื่มสุราในปริมาณที่เหมาะสมพบว่าอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตจาก
โรคเส้นเลือดและหัวใจลดลง เหลือ 0.7ในผู้ชาย และ 0.6ในผู้หญิง เมื่อเทียบกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มสุรา
ซึ่งเชื่อว่า แอลกอฮอล์ทำให้มี
การเพิ่มของ HDL cholesterol ได้
โรคอ้วน
มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง,ภาวะ glucose intolerance, ภาวะดื้อต่ออินสุลิน,ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น,ระดับ
HDL cholesterolต่ำลง,ระดับ fibrinogenเพิ่มขึ้น
ความอ้วนเพิ่มอัตราการเสียชีวิตรวมและที่เกิดจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ
จากการศึกษาพบว่าคนอ้วน(BMIหรือดัชนีมวลร่างกาย มากกว่า หรือเท่ากับ 40)จะมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมสูงที่สุด
คิดเป็น 2.7เท่าในผู้ชายและ 1.9เท่าในผู้หญิง
การศึกษาพบว่าการมีน้ำหนักเพิ่มมากหลังอายุ
20ปีจะเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เช่นกัน(รายงาน
ในผู้ชายที่ศึกษา 6874 รายเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยเทียบกันในกลุ่มอายุ,การออกกำลังกาย,การสูบบุหรี่ใกล้เคียงกัน
พบว่า
อัตราเสี่ยงของการตายจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ต่ำที่สุดในกลุ่มที่มีน้ำหนักคงที่คือเพิ่มไม่เกิน 4% หลังอายุ 20 ปี
อัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 1.57 เท่า ในกลุ่มที่มีน้ำหนักเพิ่ม
4-10%
อัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2.76 เท่า ในกลุ่มที่มีน้ำหนักเพิ่มมากกว่า
35%)
การรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบ มี 3 วิธี
คือ
1. รักษาโดยใช้ยา
เป็นวิธีการรักษาหลักในรายที่เป็นไม่มาก
หรือช่วยลดอาการแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบ อาจใช้เป็นวิธีการรักษาเดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น
ยาที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตในคนที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
ได้แก่ แอสไพริน,ยาปิดกั้นเบต้า(Beta blocker)
ยาที่ใช้ลดอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
มี 3 กลุ่มคือ
- ยากลุ่ม Nitrates ช่วยขยายเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
มีทั้งแบบอมใต้ลิ้น(ออกฤทธิ์ภายใน 2-5 นาที และอยู่ได้นาน 15-30นาที), แบบรับประทาน(ออกฤทธิ์ภายใน
15-30 นาทีแล้วแต่ชนิดของยา) และแบบแผ่น ปิดหน้าอก(ออกฤทธิ์ช้าเริ่มออกฤทธิ์ ประมาณ
30 นาที อยู่ได้นาน 8-14 ชม.มักติดไว้ที่หน้าอกตอนเช้าและเอาออกตอนเย็น ไม่ปิดไว้ตลอด
เวลาเพราะจะทำให้เกิดภาวะดื้อยาได้)
อาการข้างเคียงที่สำคัญคือ ปวดศีรษะ และเวียนหน้า
- ยากลุ่ม Beta blockers ช่วยลดการบีบตัวของหัวใจ
ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และลดความดันโลหิต
อาการข้างเคียงที่สำคัญคือ หลอดลมหดเกร็งตัว หัวใจเต้นช้า ในผู้ชายอาจเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้(ประมาณ
10%) และไม่ใช้ ในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงแขนขาเพราะอาจทำให้เป็นมากขึ้นได้
- ยากลุ่ม Calcium blockers ช่วยขยายเส้นเลือด
ลดความดันโลหิต และลดการบีบตัวของหัวใจ
อาการข้างเคียงที่สำคัญคือ ร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้า, เวียนหน้า,
บวมบริเวณขา
นอกจากนี้ยังมียาที่มีประโยชน์ในโรคนี้ ได้แก่
- ยาลดไขมันในเลือด ในรายที่มีระดับไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย
- ยากลุ่ม ACEI(=Angiotensin converting enzyme
inhibitors)จะมีประโยชน์ในรายที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือในราย กล้ามเนื้อหัวใจตายที่มีการบีบตัวของหัวใจลดลงน้อยกว่า
40%
2. รักษาโดยการสวนหัวใจทำบอลลูนขยายเส้นเลือด
- ไม่สามารถทำได้ทุกราย
- ทำได้เฉพาะในรายที่เส้นเลือดมีการตีบเฉพาะจุดอย่างชัดเจน และควรตีบมากกว่า 50%
ขึ้นไป
- มักทำในรายที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบ 1-2 เส้น(ถ้าตีบ 3 เส้นการผ่าตัดจะได้ผลดีกว่า)
- ไม่ควรทำในรายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กรณีเส้นเลือดตีบที่บริเวณโคนของเส้นเลือดแดงโคโรนารี่ด้านซ้าย
การใส่ขดลวดพร้อมกับการทำบอลลูน(Stenting) ในปัจจุบันมักใส่
stent ร่วมด้วย ในรายที่ต้องทำบอลลูน เพื่อลดอัตราการเกิดตีบซ้ำ ของเส้นเลือด หลังทำบอลลูน
จากการศึกษาพบว่า
ถ้าทำบอลลูนโดยไม่ใส่ stent จะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด 30-40%
ถ้าทำบอลลูนพร้อมกับใส่ stentแบบธรรมดา จะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด
20-30%
ถ้าทำบอลลูนพร้อมกับใส่ stent แบบเคลือบยาต้านการตีบเส้นเลือด(drug
eluting stent) จะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด <10%
ภาพแสดงการทำบอลลูนและการใส่ขดลวด(Stent)
3. รักษาโดยการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ
- ใช้ในกรณีที่มีการตีบของเส้นเลือดหัวใจมาก โดยเฉพาะในกรณีที่ตีบเป็นทางยาว
- มักใช้ในรายที่มีเส้นเลือดตีบ 3 เส้นโดยเฉพาะตีบแบบกระจายทั่วไป หรือในรายเส้นเลือดตีบที่บริเวณโคนของเส้นเลือดแดง
โคโรนารี่ด้านซ้ายหรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากการทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ
เรียบเรียงโดย Doctor Heart