โตขึ้นผมอยากเป็น

ที่มา : นวพร เรืองสกุล และทีมงาน knowledge plus
kids & family ปีที่ 10 ฉบับที่ 113 สิงหาคม 2548

พ่อ แม่ หลายคนคงเคยบ่นลูก ๆว่า

ทำไมถึงใช้เงินฟุ่มเฟือยแบบนี้

รู้จักประหยัดบ้างสิ ยังหาเงินเองไม่ได้ ช่วยประหยัดก็ยังดี

และลูกหลายคนก็มักจะตอบพ่อแม่ว่า “ ก็หาเงินจากพ่อและแม่ไง ” หรือบางคนที่เจ้าเล่ห์หน่อยก็จะบอกว่า “ ใครว่าหาเงินไม่ได้ อย่างน้อยตอนนี้ก็ได้เงินค่าจ้างที่แม่ให้หนูไปเรียนหนังสือ ”

ที่ยกเรื่องนี้มาเขียนก็เพราะนึกถึงตอนที่ไปสอนวัยรุ่นเรื่อง ' ก่อร่างสร้างตัว ' ลักษณะของกิจกรรมเป็นการถามคำถามเกี่ยวกับเงินที่เด็กได้รับ หรือหาได้ในช่วงที่เรียนหนังสืออยู่

ส่วนใหญ่ของคำตอบก็หนีไม่พ้นที่พ่อแม่หลายคนเคยได้ยินมากนัก แต่จะมีที่ฟังแล้วต้องสะดุดและเก็บเอามาคิดต่อ เช่น เอาของเล่นของสะสมที่เบื่อแล้วไปขายเพื่อนๆ รับจ้างนวดขา นวดแขนให้คุณปู่คุณย่า รับจ้างล้างจานให้กับพ่อแม่ที่ขายอาหาร ได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากที่พ่อกับแม่ฝากไว้ให้

จากตัวอย่างของคำตอบที่ยกมานี้ หากลองวิเคราะห์ถึงคำตอบที่ได้รับมาคงพอจะคาดการณ์ได้ว่า ผู้ที่ตอบคำถามต่างๆ กันนี้ มีความสนใจหรือถนัดด้านใด

คนที่ตอบว่าจะเอาของสะสมไปขาย คนนี้มีแววเป็นพ่อค้า เจ้าของกิจการ หรือถ้าไกลไปกว่านั้นก็เป็นนักธุรกิจ ส่วนน้องที่รับจ้างนวดแขนขาให้คนสูงอายุ หรือล้างจานช่วยพ่อกับแม่ เมื่อเรียนจบบางคนอาจจะไปประกอบอาชีพ เป็นพนักงานบริษัทมีเงินเดือน หรือรายได้ประจำ บางคนอาจคิดต่อยอดในสิ่งที่ตัวเองทำในปัจจุบันให้กลายเป็นธุรกิจได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ก็แสดงความรู้จักขวนขวายหารายได้เป็นของตนเอง

คำตอบสุดท้ายที่ว่ามีดอกเบี้ยเป็นรายได้ เท่ากับกำลังมีประสบการณ์ของนักลงทุน ที่รู้จักทำเงินให้งอกเงยโดยใช้เงินต่อเงิน

การวิเคราะห์นี้ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่า เด็กจะได้เป็นเถ้าแก่ หรือลูกจ้าง หรือรู้จักลงทุนในอนาคตอย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่สามารถนำไปใช้ต่อยอดพูดคุยกับวัยรุ่น ให้เขาได้รู้จักว่าเงินที่ได้รับมานั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร อาจจะใช้วิธีการถามแล้วให้เขาตอบ โดยตัวอย่างคำถามได้แก่ ถ้าเอาของเล่นหรือของสะสมมาขาย ตอนซื้อมาซื้อเท่าไหร่แล้วคิดว่าจะตั้งราคาขายเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วได้กำไรหรือขาดทุน ?

คำถามนี้เด็กอาจจะตั้งราคาที่ทำให้ได้กำไร หรือขาดทุน ขึ้นกับสิ่งของที่เขาเอามาขาย เพราะบางคนเอาหนังสือการ์ตูนที่อ่านแล้วมาขาย ก็คงตั้งราคาต่ำกว่าราคาซื้อ ถ้ามองในรูปตัวเงินก็คงบอกว่าขาดทุน แต่ถ้าคิดอีกมุมมองก็ต้องบอกว่ามีกำไรจากการได้อ่านหนังสือก่อนคนอื่น แต่หากนำแสตมป์ที่เป็นที่นิยม หรือหายากมาขาย ก็คงมีคนแย่งกันซื้อทำให้ได้ราคาดีกว่าที่ซื้อมาตอนแรก ซึ่งกำไรที่ได้คือเงินที่ได้จากการขายแสตมป์

สำหรับคนที่ตอบว่าได้รับค่าจ้างจากการทำงาน อาจจะถามว่า ได้รับค่าจ้างเท่าไหร่ ได้รับบ่อยแค่ไหน จำนวนเงินที่ได้รับเท่ากันทุกครั้งรึเปล่า เป็นต้น ในใจของผู้ถามควรจะมีคำตอบที่จะชี้ต่อไปถึงที่มาของรายได้ให้ลูกๆ ได้เข้าใจด้วย

ในภาพกว้างๆ รายได้มีที่มาจากกำไรในการประกอบการ เงินเดือน หรือค่าจ้างจากการขายแรงงาน (ทั้งแรงกายหรือแรงสมอง) ผลตอบแทนจากเงินลงทุน และอีกรายการหนึ่งคือ กำไรจากการเป็นเจ้าของกิจการ

จากคำถามต่างๆ ที่ถามออกไปให้เด็กได้คิดต่อกันแล้ว สิ่งที่สำคัญและไม่ควรจะลืมก็คือ เงินที่ได้มานั้นเขาตั้งเป้าไว้หรือยังว่าจะใช้เงินไปทำอะไร จะเอาไปลงทุนต่อแบบการใช้เงินต่อเงิน จะเอาไปซื้อของที่ตัวเองอยากได้ หรือจะเอาไปลงทุนทำธุรกิจจิ๋วๆ ของตัวเอง

งานวิจัย ' เข้าใจวัยจ๊าบ ' ของสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ( TMRS ) ที่พบใน www.bunditcenter.com ที่สำรวจว่าอาชีพที่ใฝ่ฝันของวัยรุ่นยุคนี้คืออะไร เพื่อให้เข้าใจวัยรุ่นสมัยนี้ว่าอยากจะทำอะไรในอนาคต โดยสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นชาย-หญิงจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย อายุ 13-18 ปี กำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งสิ้น 1,200 คน

ผลการสำรวจสรุปว่า วัยรุ่นต้องการมีธุรกิจส่วนตัวมากที่สุดคือ ร้อยละ 11 ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นอิสระ ซึ่งเท่ากับอาชีพตำรวจโดยให้เหตุผลว่าต้องการกำจัดคนชั่วช่วยเหลือผู้อื่น และการที่อยากเป็นเหมือนกับพ่อ หรือญาติของตน รองลงมาคือ ทหารและครู คือร้อยละ 9 ถัดมาเป็น พยาบาลและหมอ และสุดท้ายคือวิศวกร

ถ้าสังเกตถึงอาชีพที่วัยรุ่นใฝ่ฝันตามที่สำรวจมา กับตอนที่ไปสอนเด็กที่โรงเรียน มีสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวมีผลต่อความคิดของเด็ก โดยเฉพาะอาชีพของพ่อและแม่ หรือญาติที่สนิทจะมีผลอย่างมาก คือ ถ้าพ่อและแม่เป็นเจ้าของธุรกิจ คำตอบของเด็กมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับสิ่งที่เด็กเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว เช่น การเจรจาธุรกิจ การซื้อ การขายสินค้า เหมือนกับภาษิตที่กล่าวว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น

ดังนั้นหากเรารู้จักเชื่อมโยงคำถามคำตอบที่เราได้ยินได้ฟังจากวัยรุ่นเหล่านี้ เราย่อมรู้จักเขามากขึ้น และสามารถทำความเข้าใจในตัวเขาได้มากขึ้นว่า อยากจะทำอะไร อยากได้อะไร และเขามีความคิดเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวอย่างไร เพื่อจะได้ให้การดูแล อบรมสั่งสอนให้เขาเติบโตอย่างงดงาม เปรียบเสมือนคนดูแลต้นไม้ที่คอยดูแลรักษาให้ต้นกล้าต้นเล็กๆ ได้เติบโต เป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงต่อไป ไม่ว่าเขาจะหล่นลงมาใต้ต้น หรือว่าปลิวไปไกลสักหน่อย