วัยรุ่นใช่วัยร้าย ถ้าพ่อแม่เข้าใจ

ที่มา :

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หลายคนคงคุ้นชินกับการได้เห็นหรือได้ยินข่าวคราวเรื่องกลุ่มวัยรุ่นตีกัน หรือวัยรุ่นก่อความรุนแรงรูปแบบต่างๆ มาไม่น้อย จึงไปตอกย้ำภาพของวัยรุ่นว่าเป็นวัยของความรุนแรง หรือวัยของอันธพาลครองเมือง

พ่อแม่บางคนที่ลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นก็อาจจะนอนหลับไม่สนิทนัก ด้วยเกรงว่าลูกจะไปก่อความรุนแรงอะไร ที่ไหน หรือรับอันตรายจากเด็กวัยรุ่นคนอื่น

มีหลายคนที่แม้ว่าลูกจะไม่ได้ไปก่อความรุนแรงอะไรแต่ก็ต้องตื่นตระหนกกับกิริยาอาการของลูกสุดที่รัก ที่เมื่อก่อนเคยว่านอนสอนง่ายซึ่งบัดนี้ได้กลับกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าวและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

เรียกได้ว่าพอผ่านพ้นช่วงนี้มาได้ พ่อแม่แทบทุกคนต่างก็ถอนหายใจกันเฮือกใหญ่ ที่ลูกตนเองรอดพ้นจากช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้

แน่นอนว่า ความก้าวร้าวรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นนั้นคงไม่ใช่เพราะปัจจัยส่วนตัวของแต่ละคนเพียงอย่างเดียว หากแต่มีธรรมชาติบางอย่างของวัยที่ส่งผลให้เด็กวัยนี้มีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากเด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคม

พัฒนาการตามวัยของเด็กวัยนี้ที่ทุกคนจะต้องเผชิญ ก็คือ การที่เริ่มมีฮอร์โมนเพศ และเจ้าตัวฮอร์โมนเพศนี้เองที่เป็นตัวไปกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนประเภทอื่นตามมา ซึ่งมักจะเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความก้าวร้าวรุนแรง ฮอร์โมนเกี่ยวกับการต่อสู้ ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะไปกระตุ้นกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย

นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศจะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะสมองจะถูกกระตุ้นให้มีการแสดงออกด้านเพศมากขึ้น ทั้งความคิด ความรู้สึก อารมณ์ เช่น อารมณ์รัก ใคร่ เราจะเห็นเด็กวัยนี้บางครั้งก็จะมีจิตใจห่อเหี่ยว บางครั้งก็จะเพ้อฝัน ตื่นเต้น ซึ่งอารมณ์จะค่อนข้างแปรปรวน

เด็กวัยรุ่น จะเป็นวัยที่ก้าวข้ามความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจังหวะก้าวนี้เองจะทำให้เด็กวัยนี้รู้สึกว่าเขาเริ่มมีอาณาจักรของตนเอง จะเห็นได้ว่าเด็กวัยนี้ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าวัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมส่วนตัว ห้องส่วนตัว รวมไปถึงความรู้สึกส่วนตัว หรือความรู้สึกเป็นตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องมีการปกป้องอาณาจักรของเขา

เพราะฉะนั้นวัยรุ่นที่ถูกใครรุกล้ำอาณาเขตของตนเอง หรือพื้นที่ส่วนตัว เขาจะตอบโต้อย่างเกินพอดี หากพ่อแม่ไปเปิดตู้ส่วนตัวของลูกเข้า ลูกก็อาจจะตอบโต้กลับมาชนิดที่พ่อแม่เองก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับกลุ่มวัยรุ่นตามสถาบันต่างๆ ที่ยอมไม่ได้ที่จะให้สถาบันอื่นมาย่างกรายในอาณาเขตสถาบันตัวเอง พวกเขาจะต่อสู้เข่นไล่อย่างถึงที่สุด

นอกจากสองปัจจัยข้างต้นแล้ว การพัฒนาของสมองส่วนหน้า คือ สมองส่วนการควบคุมตัวเองยังพัฒนาไม่เต็มที่ของวัยรุ่น ทำให้เมื่อมีฮอร์โมนเพศ หรือความรู้สึกต่ออาณาจักรเข้ามา ทำให้พวกเขาควบคุมตัวเองไม่ได้และขาดวิจารณญาณในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเวลาโกรธ หรือเกิดความรู้สึกสับสน พวกเขาจะแสดงออกมาอย่างเกินขอบเขต โดยเฉพาะในเด็กวัย 13-17 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็นวัยรุ่นตอนต้น เมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัย 18-19 ปี การพัฒนาของสมองจะเริ่มดีขึ้น เด็กจะเริ่มมีอารมณ์ที่มั่นคงขึ้น ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นเด็กวัยมัธยมเป็นวัยที่พ่อแม่มักพร่ำบ่นว่าดูแลยาก ก้าวร้าว หรือต่อต้านพ่อแม่ ซึ่งหากพ่อแม่ไม่รู้ไม่เข้าใจในจุดนี้ ก็อาจทำให้มีการปฏิบัติต่อเด็กที่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อไปได้

นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นที่จะทำรู้จักและเข้าใจในตัววัยรุ่นให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ดีที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว หากพ่อแม่ไม่ได้เข้าใจถึงสาเหตุหรือต้นตอที่แท้จริงของพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กวัยรุ่นแสดงออก สัปดาห์หน้าเราจะมาติดตามกันต่อถึงผลกระทบจากผู้เลี้ยงดูวัยรุ่น จะเข้ามามีปัจจัยเสริมหรือกระตุ้นต่อการแสดงออกของเด็กอย่างไรจึงจะไม่ขัดใจและเท่าทันต่อความคิด ความรู้สึกและความต้องการของเด็กวัยรุ่น

สนใจข้อมูลการเลี้ยงดูลูกอย่างสร้างสรรค์หรือปรึกษาปัญหาเรื่องของลูก ติดต่อได้ที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
โทร.0-2412-0738 , 0-2412-9834 หรือ www.thaichildrights.org