ความเหงาของวัยรุ่น

18 กันยา

ริมหน้าต่างบานเก่า

วันหนึ่งขังตัวเองอยู่ในห้องทั้งวัน นั่งนับเม็ดฝนไปเรื่อยๆ จนฝนหยุด ใจคิดถึงแต่เรื่องเก่าๆ วันที่เห็นพี่เก่งจับมือกับคนนั้น เขาเป็นแฟนกันหรือเปล่านะ ? อยากรู้จัง ? ถ้าเป็นแฟนกันอยู่แล้ว ทำไมต้องมาคบเด็กอย่างเราเป็นแฟนด้วยล่ะ โอ๊ย! ยิ่งคิดยิ่งสับสน อยากร้องไห้จัง โทร.คุยกับแจงก็ไม่เข้าใจ หาว่าเราคิดมากอีก สุดท้ายเลยคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็เราแค่อยากระบายอะไรๆ ออกไปเท่านั้น ไม่ต้องการคำปรึกษาสักหน่อย เฮ้อ! นี่จะต้องเสียทั้งพี่เก่ง ทั้งเพื่อนด้วยหรือเปล่านะ … เศร้าจัง!

แม่กับพ่อก็ไม่สนใจ มีแต่งาน ประชุมนู่น ประชุมนี่ทั้งวัน จะมีใครนึกถึงเราบ้างน้า คงไม่มีหรอกมั้ง … คนไร้ค่าอย่างเราใครจะมาสนใจ สงสารตัวเองจัง!!! …

ปราย


ไดอารี่ของปราย เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึง ความเหงา หรือการบาดเจ็บทางอารมณ์ในวัยรุ่น … วันที่อ่อนไหวง่าย ช่างเพ้อฝัน และติดหล่มอารมณ์ได้มากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ และพัฒนาการทางอารมณ์สังคมของเขาค่ะ

การยืนอยู่บนรอยต่อความเปลี่ยนแปลง สร้างความรู้สึกสับสนแก่เด็กวัยนี้มาก การก่อร่างบุคลิกของตัวเองต่อการปรับตัวสู่สังคม ทำให้เด็กๆ ต้องหามุมสงบเพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น แม่ๆ อย่างเราจะสังเกตพฤติกรรมถดถอยนี้ได้ในลูกวัย 13 ค่ะ เขาจะเก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง ไม่สุงสิงกับใคร จะเห็นหน้ากันก็แค่ตอนกินข้าวเท่านั้น แม้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นการก้าวผ่านวัยตามธรรมชาติของเขาก็จริง แต่ถ้าเราปล่อยผ่านไปโดยไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้ดีแล้ว ความเหงาก็สามารถแทรกเข้าไปในความรู้สึกของลูกได้ทุกเวลา

ความเหงามักมาพร้อมกับความผิดหวัง หมดกำลังใจและความเจ็บปวดจากการคาดหวังในตัวเองและสังคมรอบข้าง และยิ่งในวัยที่หัวใจกำลังผลิบานอย่างนี้ เหตุแห่งความเหงาก็ย่อมมีมากขึ้นตามลำดับ

ปัญหาสังคมมากมาย ต่างมีจุดเริ่มต้นมาจากความเหงา จากความรู้สึกไม่มีใครเข้าใจ และหาทางออกด้วยการหาใครสักคนที่เข้าใจ หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้เขาลืมความรู้สึกนี้เสีย และหลายครั้งที่เรื่องราวมักจบลงด้วยอาการ ติด ไม่ว่าจะติดเพื่อน ติดดีเจ ติดเกม ติดโทรศัพท์ เลยไปจนติด … ยา หนักหน่อยก็ไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และหนักที่สุดก็คือ ฆ่าตัวตาย …

แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนนะคะ ที่จะเดินไปพบจุดปลายอย่างนั้นเสมอไป

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเหงา

มีเด็กวัยรุ่นหลายคนที่สามารถก้าวผ่านความเหงาได้ด้วยตัวเอง แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกัน ที่ต้องการใครสักคนช่วยสะกิดให้เขารู้ตัว

คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ลูกกำลังต้องการมือที่คอยสะกิดนี้หรือไม่ ตราบเท่าที่ยังไม่มีเวลาให้กับลูก … เวลาสำหรับการดูแล สังเกตพฤติกรรม และความเป็นไปต่างๆ เพราะนี่คือตัวจุดชนวนความเหงาในใจลูก ได้มากกว่าปัจจัยที่เกิดจากภายนอก เช่น ทะเลาะกับเพื่อน แฟน (ถ้ามี) หรือครูเสียอีก

อาการเหม่อลอย เงียบซึม เก็บตัว ไม่ค่อยพูด และไม่ร่าเริง เหมือนเป็นคนละคนกับเมื่อวันก่อน คงพอจะทำให้แม่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน รับรู้ได้ไม่ยากนัก ว่าลูกกำลังอยู่ในอารมณ์ไหน แต่ที่ยากก็คือ ต้นตอของอารมณ์ และวิธีการยื่นมือเข้าไปช่วยลูกมากกว่า อย่างเรื่องราวในสมุดบันทึกของปราย แม่ไม่สามารถล่วงรู้ในสิ่งที่ปรายเขียนได้เลย แล้วจะมีวิธีใดบ้าง ท่จะช่วยให้แม่ของปรายและแม่ทั้งหลายรับรู้ถึงความเหงาของลูก …

• การที่ปรายไม่ยอมรับโทรศัพท์จากใครทั้งนั้น แม้แต่เพื่อนสนิท … เหตุการณ์นี้ทำให้แม่รับรู้ได้ไม่ยากว่า ปรายอาจมีปัญหากับเพื่อน ส่วนจะเรื่องอะไรนั้น คงต้องลองตะล่อมถามจากเพื่อนของลูกดู

• การตั้งข้อสังเกตกับหนังสือกลอนรักร้าวที่ปะปนอยู่กับหนังสือเรียนของลูก เป็นสิ่งที่ไม่น่าละเลยเช่นกัน

• เมื่อเสียงเพลงรักหวานเศร้าลอดผ่านช่องประตูออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ก็คงช่วยให้เดาได้ไม่ยากว่า เกิดอะไรขึ้นกับลูก เพราะสำหรับวัยรุ่นแล้ว ดนตรี คือภาษาที่มาจากจิตใต้สำนึกของเขา ลองพยายามฟังเพลงอย่างตั้งอกตั้งใจ แล้วคุณจะรู้ถึงสิ่งที่ลูกเก็บงำไว้

ช่วยลูกคลายความเหงา

เมื่อพอจะคาดเดาถึงต้นตอได้บ้างแล้ว เราจะช่วยปลดแอกอารมณ์เหงาให้ลูกด้วยวิธีใดได้บ้าง ทางที่ดีที่สุดคือ อยู่ในภาวะที่ลูกสามารถเข้าหาเราได้ทุกครั้งที่เขาต้องการและก็รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจ พยายามทำทุกอย่างให้เหมือนเป็นเรื่องปกติ เช่น คุยกับลูกถึงเรื่องทั่วๆ ไปในครอบครัว เพื่อดึงเขาออกจากความคิดหมกมุ่นเพียงลำพัง

" ปรายคิดเหมือนแม่ไหมลูก แม่ว่าเดี๋ยวนี้เจ้ามอมมันดูซึมๆ ไปนะ เอ … หรือเป็นเพราะไม่มีใครเล่นกับมันเหมือนทุกครั้ง"

หรือใช้คำพูดที่สื่อให้ลูกรู้ว่า เขาสำคัญ และทุกคนรอคอยการกลับมาเป็นคนเดิมของเขา

" เราไม่ได้เล่นครอสเวิร์ดด้วยกันนานแล้วนะลูก เดี๋ยวกินข้าวเสร็จชวนพ่อเล่นด้วยกันดีไหมจ้ะ"

หรือไม่ก็ลองชวนลูกเปลี่ยนบรรยากาศ หากิจกรรมนอกบ้านทำกันก็ดีค่ะ เช่น ชวนกันไปว่ายน้ำ ตีเทนนิส ไปร้านหนังสือ หรือปิกนิกนอกบ้านบ้าง จะช่วยได้มากทีเดียวค่ะ

ตราบใดที่เขายังไม่พร้อมจะบอกอะไรแก่เรา ก็ไม่ควรไปคาดคั้นเอาคำตอบจากลูก เพราะเขาจะยิ่งปฏิเสธ และหนีห่างจากเรามากขึ้นค่ะ อย่าลืมว่า เด็กวัยนี้ไม่ชอบให้ใครไปเจ้ากี้เจ้าการกับชีวิตมากนัก แต่ครั้นจะปล่อยให้ลูกดำดิ่งไปกับอารมณ์เหงาก็ไม่เข้าที คงต้องลองคุยกับเขาด้วยคำพูดที่แสดงให้ลูกรับรู้ถึงความห่วงใยของคุณ

" แม่รู้ … ว่าลูกมีเรื่องไม่สบายใจ และแม่ก็ไม่มีความสุขเลย ที่เห็นลูกเป็นแบบนี้ ถ้าแม่พอจะช่วยอะไรลูกได้บ้าง แม่จะดีใจมาก"

สร้างภูมิต้านทานความเหงาให้ลูก

1. ให้เวลาดูแลเอาใจใส่ อยู่ใกล้ชิดลูก

2. สร้างความไว้วางใจให้แก่ลูก เพราะเมื่อลูกมีปัญหา ท่าทีของเรา คือตัวบอกให้ลูกรู้ว่า เขาควรจะปรึกษาหรือไม่

3. รับฟังอย่างเข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังเผชิญ

4. ให้คำแนะนำต่อเมื่อลูกร้องขอ เพราะบางครั้งลูกเพียงแค่อยากระบายความคับข้องใจของเขาให้เราฟังเท่านั้น

5. หากิจกรรมแปลกใหม่ให้ลูกทำ เพื่อที่เขาจะได้ไม่มีเวลาหมกมั่นกับตัวเองมากนัก

มีเหมือนกันที่เด็กวัยรุ่นอยากจมอยู่กับความรู้สึกเหงาๆ ชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการทางอารมณ์ที่ปกติ ถ้าไม่มากจนเสียการเรียนหรือกระทบเรื่องอื่นๆ ก็ปล่อยให้เขาได้เหงาบ้างตามอารมณ์ของวัย … ไม่อันตราย

เมื่อลูกวัยรุ่นมีความทุกข์ เศร้า … เหงา เขาต้องการให้เรายืนอยู่เคียงข้าง คอยยื่นมือให้เขา … ในจังหวะที่เขาส่งสัญญาณมา … ไม่ยากใช่ไหมคะ