เมื่อรู้ว่ามีกลิ่นปาก ควรทำอย่างไร ?
ที่มา : ทพญ.ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล
ใครๆ ก็กลัวการมีกลิ่นปาก เพราะทำให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น การที่รู้ตัวว่ามีกลิ่นปาก จะทำให้มีความกังวลเป็นอย่างมาก ทำให้ขาดความมั่นใจในการพบปะสนทนากับคนอื่น มีความอับอาย จนอาจทำให้กลายเป็นเก็บตัว ไม่ค่อยกล้าพูดคุยกับใคร อย่างไรก็ตามกลิ่นปากจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็มีทางแก้ไข หรือป้องกันได้
สาเหตุของการเกิดกลิ่นปากนั้น พอจะจำแนกออกเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ได้ 9 ประการ ดังนี้
1. มีฟันผุ เป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นปาก
ฟันผุ ที่ทิ้งไว้ไม่ได้อุดให้เรียบร้อย จะมีเศษอาหารมาติดค้าง สะสมอยู่ในรูฟันที่ผุ
เมื่ออาหารเหล่านั้นบูดเน่าจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ ฉะนั้นควรตรวจให้พบว่ามีฟันผุหรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟันที่ผุบริเวณซอกฟันจะมองเห็นได้ยาก เมื่อรู้สึกว่ามีกลิ่นจากซอกฟัน
ก็น่าจะเป็นอาการเตือนอย่างหนึ่งว่าอาจจะมีฟันผุได้
ผู้ที่มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน มีหนองปลายรากฟัน ก็ต้องรักษารากฟันและบูรณะฟันให้เรียบร้อย
ถ้าผุมากจนไม่สามารถเก็บฟันได้ เหลือเฉพาะรากฟัน จะต้องถอนออก แล้วจึงใส่ฟันปลอมทีหลัง
การที่มีเศษอาหารติดซอกฟัน ก็เป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นปากได้แม้ว่าฟันจะไม่ผุเลยก็ตาม
ในกรณีเช่นนี้ต้องกำจัดเศษอาหารเหล่านั้นออกให้หมดกลิ่นจึงจะหายไป
2. หินปูน ทำให้เหงือกมีการอักเสบ เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
คราบอาหารที่เกาะที่ฟันเนื่องจากแปรงออกได้ไม่หมด จะมีเชื้อแบคทีเรียมาสะสมเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ ระยะแรกนี้ขอบเหงือกจะเริ่มอักเสบ พอนานเข้าประมาณ 48 ชั่วโมงขึ้นไป สารแคลเซียมที่มีอยู่แล้วในน้ำลาย จะมาเกาะตัวอยู่บนแผ่นคราบจุลินทรีย์นั้น เป็นหินปูนเกิดเป็นโรคเหงือกอักเสบทำให้ปากมีกลิ่น เลือดออกเวลาแปรงฟัน เหงือกจะบวม ผิวเป็นมัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่กำจัด หินปูนออกจะมาพอกรอบๆ ตัวฟันมากขึ้น เหงือกจะถูกแยกออกจากฟัน เป็นร่องลึกเข้าไปสะสม ทำความสะอาดได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่า เกิดโรคปริทันต์อักเสบ จะมีการทำลายของเหงือกและกระดูกรอบรากฟัน (ปริ=รอบๆ) เหงือกมีการอักเสบมาก มีหนองจากเหงือก ยิ่งทำให้มีกลิ่นปากรุนแรงขึ้น
3. แผลในช่องปาก ก็ทำให้เกิดกลิ่นไม่ดีได้
แผลในช่องปาก เช่น แผลแอพทัส หรือที่มักจะเรียกว่า แผลร้อนใน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ
ส่งผลให้เกิดมีกลิ่นปาก การเกิดรอยโรคบางอย่างของเนื้อเยื่อข้างแก้ม หรือลิ้น ก็ทำให้ช่องปากมีกลิ่นได้เช่นกัน
การแก้ไขก็คือ รักษาแผลหรือรอยโรคนั้นโดยเร็ว เมื่อแผลหายกลิ่นปากก็จะลดลง
นอกจากนี้กลิ่นปากอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังการถอนฟัน หรือการผ่าตัดในช่องปาก เช่น
การผ่าฟันคุด เพราะในระยะที่แผลกำลังจะหาย เนื้อเยื่อบางส่วนจะเปลี่ยนแปลง เกิดมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
นอกจากนี้ในขณะมีแผลในปาก ผู้ป่วยมักจะเคี้ยวอาหารได้ไม่ถนัด ทำให้ต้องรับประทานอาหารอ่อนๆ
อาหารก็ติดฟันได้ง่ายมากขึ้น เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะทำให้เกิดการบูดเน่าของอาหารและเกิดกลิ่นเหม็นได้
แต่ก็จะน้อยลงเมื่อแผลหายดีขึ้น ฉะนั้นเมื่อมีแผลในปาก ก็ต้องดูแลช่องปากให้ดีขึ้น
ไม่ควรละเลยการทำความสะอาด โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ควรแปรงฟันทันทีเพื่อไม่ให้มีคราบอาหารเกาะที่ฟัน
โดยใช้แปรงปัดเบาๆ แต่ถ้าอ้าปากหรือแปรงฟันได้ไม่ถนัด ก็ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ
ทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร แต่สำหรับแผลถอนฟัน หรือแผลผ่าตัด ให้ทำได้หลังจากนั้นสัก
3-4 ชั่วโมง หรือเมื่อเลือดหยุดแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่จะทำความสะอาดฟันได้ก็คือ ใช้ผ้ากอซ
ชุบน้ำอุ่นพันนิ้วเข้าไปเช็ดฟันเท่าที่จะทำได้ จะทำให้รู้สึกสบายขึ้น และจะช่วยลดกลิ่นปากลงได้
4. การรับประทานอาหารบางชนิด ทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน
อาหารบางชนิด เมื่อรับประทานแล้วจะมีกลิ่นติดปาก เช่น อาหารที่มีหัวหอม กระเทียม
หรือเครื่องเทศ เป็นส่วนประกอบ ผักหลายชนิด เช่น สะตอ ผักชี เหล่านี้มีกลิ่นรุนแรง
บางทีทานไปหลายชั่วโมงแล้วยังมีกลิ่นอยู่เลย ฉะนั้นต้องเลือกเวลารับประทานให้เหมาะสม
การแปรงฟัน การใช้น้ำยาบ้วนปาก ตลอดจนการใช้ลูกอม หรือสเปรย์ดับกลิ่นอาจจะช่วยได้บ้าง
ผลไม้บางอย่างเนื้อหยาบ รับประทานแล้วจะช่วยทำความสะอาดฟันและเหงือกได้ เช่น ฝรั่ง
สับปะรด อ้อย มีการศึกษาพบว่าในฝรั่งเป็นสมุนไพรที่นำมาเคี้ยว จะช่วยลดกลิ่นปากได้
5. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ผู้ที่สูบบุหรี่ ลมหายใจจะมีกลิ่นเหม็น
นอกจากแอลกอฮอล์ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคตับอักเสบ หรือมะเร็งตับ สารนิโคตินจากบุหรี่ก็ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง
หรือมะเร็งปอด ทั้งสองอย่างนี้ยังมีผลทำให้ปากและคอมีกลิ่นเหม็นด้วย
6. การกินยาบางชนิดก็ทำให้มีกลิ่นออกมาทางลมหายใจ
ยาปฏิชีวนะบางตัวเมื่อรับประทานติดต่อกันหลายๆ วัน อาจจะทำให้มีกลิ่นของยาออกมาทางปากหรือกับลมหายใจ ถ้าหยุดยาอาการก็จะหายไป แต่ถ้ายาที่จำเป็นต้องทานติดต่อกันนานๆ เพื่อรักษาโรคบางอย่าง ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ การรับประทานยาแก้สิวติดต่อกันเป็นเดือนก็จะทำให้เกิดอาการปากแห้งและมีกลิ่นปากได้ กรณีนี้อาจจะขอให้แพทย์ช่วยเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นบ้าง
7. กลิ่นปาก อาจเกิดจากความเครียดได้
ในภาวะที่คนมีความเครียด จะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในร่างกาย อาจทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น เวลาใกล้สอบของนักเรียน นักศึกษา ช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ที่เรียกว่าวัยทอง จะมีความผิดปกติที่แสดงออกมา เช่น อารมณ์แปรปรวน และอาจมีผลให้เกิดกลิ่นปากได้ด้วย
8. โรคต่างๆ ก็มีผลแสดงทางกลิ่นปาก
โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเริ่มแต่จมูก คอ จนถึงหลอดลม ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นได้
เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบหรือที่เรียกว่า ไซนัสอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ มีของเหลวหรือหนองอยู่ในโพรงอากาศบริเวณข้างจมูก
ทำให้มีกลิ่นออกมาทางลมหายใจ และทางปาก การเป็นหวัดเรื้อรัง จะทำให้โพรงจมูกอักเสบได้
ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้เป็นหวัดบ่อยๆ หรือเป็นนานๆ
การอักเสบในลำคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอด
หรือมะเร็งที่ปอด จะมีกลิ่นออกมากับลมหายใจและทางปากได้
ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเป็นประจำ
มักจะมีลมดันออก ก็จะมีกลิ่นออกมาด้วย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเป็นเวลานานๆ จะมีผลทำให้มีการผลิตสารเคมีบางชนิดในร่างกาย
หรืออาจจะมีผลมาจากยาที่รับประทาน ส่งผลให้มีกลิ่นออกมากับลมหายใจได้
9. สาเหตุสำคัญของการมีกลิ่นปาก ก็คือขาดการรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาด
สาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีกลิ่นปาก จะเกิดจากการทำความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีพอ
แปรงฟันไม่สะอาด กำจัดคราบอาหารออกได้ไม่หมด เกิดเป็นคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ที่ฟันลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
จากการศึกษาพบว่า การแปรงฟันเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้ดีพอ โดยเฉพาะบริเวณซอกฟัน
จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยทำความสะอาด เช่น ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟัน เป็นต้น
ผู้ที่ใส่ฟันปลอมพบว่า การแปรงฟันเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้ดีพอ
โดยเฉพาะบริเวณซอกฟัน จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยทำความสะอาด เช่น ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟัน
เป็นต้น
ผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือใส่เครื่องมือต่างๆ ในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน เครื่องมือกันฟันล้มเก
หรือใส่เฝือกสบฟัน จะมีส่วนทำให้เศษอาหารติดฟันมากขึ้น ต้องแปรงฟันและทำความสะอาดเครื่องมือเหล่านี้ให้ดี
มิฉะนั้นจะเกิดกลิ่นไม่สะอาดได้ ดังนั้นจึงควรถอดออกมาทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
และควรถอดแช่ไว้ในน้ำสะอาดตอนนอน เครื่องมือที่ทำด้วยพลาสติก เมื่อใช้ไปนานๆ แล้วควรเปลี่ยนทำใหม่
เพราะเนื้อวัสดุจะดูดสี และดูดกลิ่น ถ้าเป็นฟันปลอม หรือเครื่องมือชนิดติดแน่นต้องดูแลเป็นพิเศษ
ตัวอย่างเช่น ใส่สะพานฟันติดแน่นต้องใช้ไหมขัดฟันสอดเข้าไปทำความสะอาดใต้ฟันปลอมด้วย
เพราะเศษอาหารมักจะไปติดอยู่ข้างใต้
ฟันปลอมที่ใส่มานานแล้วถ้ามีคราบหรือหินปูนเกาะ อาจใช้น้ำยาสำหรับแช่ฟันปลอมโดยเฉพาะ
แช่ได้เป็นครั้งคราวหรือนำมาให้ทันตแพทย์ทำความสะอาดได้
การตรวจว่ามีกลิ่นปากหรือไม่
เมื่อเราไม่แน่ใจว่าลมหายใจสะอาดพอหรือไม่ วิธีง่ายๆ ที่ตรวจได้เอง ก็คืออ้าปากดันลมลงไปบนฝ่ามือ (ออกเสียง ฮา สั้นๆ) แล้วลองดมดู ก็จะรู้ ถ้าจะแยกกลิ่นนี้ว่ามีจากระบบหายใจหรือมาจากช่องปาก ให้ปิดปากให้แน่นแล้วหายใจออกทางจมูกแรงๆ ถ้าได้กลิ่น แสดงว่ากลิ่นนั้นเกิดจากระบบหายใจ
ใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อดับกลิ่นปาก ?
น้ำยาบ้วนปากส่วนใหญ่จะผสมยาฆ่าเชื้อโรคไว้ด้วย ควรใช้เมื่อมีอาการอักเสบ มีการติดเชื้อหรือมีแผลในช่องปากหรือลำคอ
ไม่ควรใช้บ่อยๆ โดยไม่ได้ดูแลสุขภาพ หรือกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นออกไป
เช่น โรคเหงือกอักเสบ โรคฟันผุ เพราะนอกจากกลิ่นปากจะยังคงมีอยู่แล้ว ยาฆ่าเชื้อโรคจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามปกติในช่องปากให้หมดไป
จะทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายและถ้าเป็นเชื้อราแล้วการรักษาค่อนข้างยากและหายช้า น้ำยาที่ใช้เป็นประจำ
ควรเป็นน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ ซึ่งทันตแพทย์แนะนำให้อมบ้วนปากเพื่อป้องกันฟันผุ
แต่ควรเลือกชนิดที่ไม่มียาฆ่าเชื้อโรคจะดีกว่า
ในบางกรณี การมีกลิ่นปากถือว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น ตอนตื่นนอน หรือเวลาที่ไม่ได้พูดนานๆ
เกิดมีกลิ่นปากเพราะเมื่อน้ำลายอยู่นิ่ง แบคทีเรียก็จะเจริญได้ดี
กลิ่นปากนั้น แก้ไขได้โดยการกำจัดสาเหตุ และสามารถป้องกันการเกิดกลิ่นปากได้ ด้วยการรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ