10 เคล็ดลับการเลิกบุหรี่
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ คุณอาจไม่รู้ว่าในแต่ละปี มีคนไทยเลิกสูบบุหรี่ได้ปีละ 200,000 คน หรือโดยเฉลี่ยมีผู้เลิกสูบบุหรี่วันละ 584 คน

จากสถิติพบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ สามารถเลิกได้ด้วยตนเองโดยใช้วิธีหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด และต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ดังนั้นเพื่อให้คุณสามารถเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเองให้สำเร็จ 10 เคล็ดลับต่อไปนี้ คือวิธีการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ของคุณ

1.ขอคำปรึกษา เพื่อให้คุณมีแนวทางในการเลิกสูบบุหรี่ คุณอาจโทรศัพท์เพื่อขอคำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่ได้ที่ ควิทไลน์ หมายเลข 1600 หรือขอคำปรึกษาจากคนที่คุณรู้จักที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ สำเร็จ

2.หากำลังใจ คุณควรบอกให้คนใกล้ชิดได้ทราบถึงความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ เพราะกำลังใจจากคนรอบข้างจะช่วยให้คุณมีความพยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้เพื่อคนที่คุณรัก

3.เป้าหมายอยู่ข้างหน้า คุณควรวางแผนในการปฏิบัติตัวในระหว่างการเลิกสูบบุหรี่ โดยกำหนดวันที่จะลงมือเลิกสูบบุหรี่ อาจเลือกเอาวันสำคัญต่างๆของครอบครัว เช่น วันเกิดตัวเอง วันครบรอบแต่งงาน หรือวันเกิดลูก แต่ทั้งนี้ไม่ควรกำหนดวันที่ห่างไกลเกินไป เพราะคุณอาจหมดไฟเสียก่อน

4.ไม่รอช้า...ลงมือ

คุณควรเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการ ทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ให้หมด เตรียมผลไม้หรือขนมขบเคี้ยวที่ไม่หวานหรือไม่ทำให้อ้วนไว้ เพื่อช่วยในการลดความอยากสูบบุหรี่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่คุณมักทำร่วมกับการสูบบุหรี่ เช่น อ่านหนังสือแทนการสูบบุหรี่ระหว่างเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำ กินผลไม้ ลุกไปจากโต๊ะอาหารทันทีที่กินอาหารเสร็จ หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังกินอาหารเพื่อลดความอยากสูบบุหรี่หลังอาหาร

5.ถือคำมั่น...ไม่หวั่นไหว เมื่อถึงวันลงมือ ขอให้คุณตื่นนอนด้วยความสดชื่น บอกกับตัวเองว่าคุณกำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองและคนใกล้ชิด เมื่ออยากสูบบุหรี่ก็ขอให้คุณทบทวนถึงเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ล้างหน้า ดื่มน้ำ อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเล่นกับลูกให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้คุณผ่านพ้นความอยากสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

6.ห่างไกล สิ่งกระตุ้น ในระหว่างนี้ ขอให้คุณหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้คุณอยากสูบบุหรี่ เช่น ถ้าเคยดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แล้วต้องสูบบุหรี่ด้วย ก็ควรงดดื่มในช่วงนี้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางคนสูบบุหรี่ด้วย

7.ไม่หมกมุ่นความเครียด เมื่อรู้สึกเครียด ให้หยุดพักสมองสักครู่ คลายความเครียดด้วยการพูดคุยกับคนอื่นๆ หรือหาหนังสือต่วยตูนมาไว้อ่านบ้างก็ได้ พึงระลึกไว้เสมอว่ามีคนไม่สูบบุหรี่อีกมากที่คลายความเครียดได้โดยไม่ต้องสูบบุหรี่

8.เจียดเวลา ออกกำลังกาย
คุณควรจัดเวลาออกกำลังกายบ้าง อย่างน้อยวันละ 15 - 20 นาที เพราะนอกจากจะเป็นการควบคุมน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้สมองปลอดโปร่ง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจและปอด ถ้าไม่มีเวลาก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทุ่นแรงต่างๆ เช่น กดลิฟท์ให้ต่ำกว่าชั้นที่ต้องการ 1 ชั้น เพื่อที่คุณจะได้เดินออกกำลังกายบ้าง หรือควรใช้จักรยานในการเดินทางใกล้ๆ

9.ไม่ท้าทายบุหรี่ อย่าคิดว่าจะลองสูบบุหรี่บ้างเป็นครั้งคราวคงไม่เป็นไร เพราะการทดลองสูบเพียงมวนเดียว อาจหมายถึงการหวนคืนไปสู่ความเคยชินเก่าๆ อีก คุณมาไกลมากแล้ว อย่าปล่อยให้ตัวเองถอยหลังลงคลองอีกเลย

10.หากต้องเริ่มต้นใหม่อีกที ก็อย่าท้อ ถ้าคุณหันกลับไปสูบอีก นั่นไม่ได้หมายถึงโลกได้ล่มสลายแล้ว ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนล้มเหลว อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงตัวในคราวต่อไป ขอให้ถือว่า คุณอาจพ่ายแพ้ในบางสมรภูมิ แต่คุณจะเป็นผู้ชนะสงครามในที่สุด ขอเพียงพยายามต่อไป จนเตรียมตัวให้พร้อม กำหนดวันที่จะหยุดและหยุดต่อไปตลอดกาล

11.เมื่อรู้ว่าอยากสูบ คุณควรที่จะ อย่าสูบบุหรี่ทันทีที่อยากสูบ คุณควรประวิงเวลาของการสูบบุหรี่ออกไปเรื่อยๆ ดื่มน้ำ หรือล้างหน้าทันที เมื่อรู้สึกหงุดหงิดกระวนกระวาย สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ และช้าๆ ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง คุณจะผ่อนคลายขึ้น หันไปทำกิจกรรมอื่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความอยากสูบบุหรี่

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 36/2 ซ.ประดิพัทธ์10 ถ.ประดิพัทธ์ สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 0-2278-1828 โทรสาร 0-2278-1830 email : mailto:info@ashthailand.or.th