ความน่าอยู่ น่าทำงาน

ความน่าอยู่ น่าทำงานของสถานที่ทำงานนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงาม หรือความสะดวกสบายของสถานที่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความสุขในการทำงานของพนักงานด้วย ถ้าพนักงานรู้สึกว่าสถานที่ทำงานไม่น่าอยู่ ไม่น่าทำงาน ผลที่ตามมา คือ

- พนักงานลากิจ ลาป่วย มาสาย หรือขาดงานเป็นประจำ ทำให้หน่วยงานได้ผลผลิตต่ำ ลูกค้าไม่ได้รับบริการที่ดี หน่วยงานเสียค่าจ้างไม่คุ้มกับผลงานที่ได้ ผลกำไรน้อยกว่าที่ควร หรืออาจขาดทุนก็ได้

- พนักงานลาออกเพราะไม่มีความสุขในการทำงาน ทำให้หน่วยงานต้องจ้างคนใหม่ ต้องเสียเวลา เสียเงินในการฝึกอบรมพนักงานใหม่เพื่อให้ทำงานได้คล่องเหมือนคนเก่า ยิ่งพนักงานระดับสูงลาออกมากเท่าใด หน่วยงานก็ยิ่งสูญเสียมากเท่านั้น

- พนักงานเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากความเครียดในการทำงาน ทำให้หน่วยงานก็ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก และอาจต้องเสียเงินจ้างพนักงานใหม่มาทำงานแทนในช่วงที่พนักงานเดิมลาป่วยระยะยาว ถือเป็นการสูญเสียผลประโยชน์ของหน่วยงาน เพราะแทนที่จะเอาเงินไปลงทุนหรือเอาไปทำประโยชน์ด้านอื่น กลับต้องมาเสียเงินจำนวนมากโดยไม่จำเป็นกับค่ารักษาพยาบาลด้วยโรคที่น่าจะป้องกันได้เหล่านี้

- พนักงานมีความเครียดจนทำงานผิดพลาด หรือเกิดอุบัติเหตุ หน่วยงานก็ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องจักร เครื่องยนต์ที่เสียหาย ต้องเสียค่าชดใช้ความเสียหายให้แก่บุคคลที่สาม ต้องหาคนใหม่มาทดแทนพนักงานที่บาดเจ็บต้องพักรักษาตัว หรือเสียชีวิตไป และยังต้องเสียภาพลักษณ์ของหน่วยงาน ที่จะถูกมองว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยต่ำด้วย

- พนักงานรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น เกลียดชัง อิจฉาริษยากันเอง หน่วยงานก็จะมีปัญหาเพราะผลงานไม่ดี ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งงานให้ลูกค้าไม่ทัน เสียภาพลักษณ์ เสียเครดิต และพนักงานอาจกลั่นแกล้งกันโดยทำลายสมบัติของหน่วยงานแล้วป้ายความผิดให้ฝ่ายตรงข้าม ทำให้หน่วยงานแตกแยก และผู้บริหารจะต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย

- พนักงานอาจเกิดความขัดแย้งกับผู้บริหารเพราะความไม่เข้าใจกัน เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง อาจก่อการประท้วง ไม่ยอมทำงาน หรือแกล้งทำงานให้ผิดพลาด อาจแสดงกิริยาไม่ดีต่อลูกค้า หรือถึงขั้นก่อม็อบ ก่อความวุ่นวาย ทำลายทรัพย์สินของหน่วยงาน ทำร้ายผู้บริหาร ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าเมื่อพนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน จะทำให้เกิดปัญหาแก่หน่วยงานได้อย่างมากมายมหาศาล หน่วยงานจึงควรเร่งป้องกันด้วยการให้ความสำคัญกับทุกข์สุขของพนักงานให้มากขึ้น ด้วยการใส่ใจที่จะสำรวจความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้ดำเนินการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานให้ทำงานด้วยความสุขมากขึ้น

กรมสุขภาพจิต โดยนักวิชาการของสำนักพัฒนาสุขภาพจิต ได้จัดทำตัวอย่างแบบสอบถามเพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้สำรวจความพึงพอใจในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของพนักงาน ได้แก่ ด้านลักษณะงาน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมงาน ด้านบรรยากาศในการทำงาน ด้านครอบครัว และด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และระบายความรู้สึกในใจเกี่ยวกับความพึงพอใจและปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่หน่วยงานจะได้นำไปพิจารณาจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

เพื่อให้พนักงานกล้าเปิดเผยความรู้สึก กล้าบอกปัญหาตามความเป็นจริง และกล้าที่จะเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ การเก็บข้อมูลจะต้องเป็นความลับ โดยไม่สามารถระบุตัวผู้ตอบได้ว่าเป็นใคร เช่น แบบสอบถามต้องไม่ถามรายละเอียดส่วนตัวของพนักงาน เช่น เพศ อายุ สถานภาพสมรส ตำแหน่ง วุฒิการศึกษา ฯลฯ ต้องไม่ใส่หมายเลขประจำแบบสอบถาม และไม่ต้องให้หัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้รวบรวมมาส่ง แต่ให้พนักงานนำแบบสอบถามที่ตอบแล้วมาใส่กล่องเอง หรือส่งทางไปรษณีย์ เป็นต้น จะทำให้พนักงานผู้ตอบแบบสอบถามไม่ต้องหวาดระแวงว่าผู้ถามจะสามารถระบุตัวผู้ตอบได้ และจะมีผลกระทบตามมาในภาย

การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามนี้ อาจเก็บจากพนักงานทุกคนของหน่วยงาน หรือพนักงานในบางฝ่ายหรือบางแผนกที่มีปัญหา หรืออาจใช้วิธีสุ่มตัวอย่างในการเก็บข้อมูลก็ได้ หากพนักงานมีเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถเก็บข้อมูลจากทุกคนได้

โปรดทำเครื่องหมาย 3 ในช่องว่างที่ตรงกับความคิดเห็นและความรู้สึกของท่าน

ความพึงพอใจด้านต่าง ๆ
มากที่สุด
มาก
ปานกลาง
น้อย
น้อยที่สุด
1. ข้าพเจ้าชอบงานที่ทำอยู่ในขณะนี้          
2. ข้าพเจ้ารู้สึกว่างานที่ทำอยู่นี้ตรงกับความรู้ความสามารถของข้าพเจ้า          
3. ข้าพเจ้ารู้สึกว่างานหนักมากเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน          
4. ข้าพเจ้ารู้สึกว่างานซ้ำซากจำเจ น่าเบื่อ          
5. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าผู้บริหารหรือหัวหน้างานให้ความใส่ใจในทุกข์สุขของข้าพเจ้า          
6. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าผู้ร่วมงานให้ความร่วมมือกับข้าพเจ้าในการทำงาน          
7. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองมีอิสระในการทำงาน          
8. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าลูกค้าหรือผู้มาติดต่องานกับข้าพเจ้าได้รับความพึงพอใจ          
9. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ของหน่วยงาน          
10. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองมีโอกาสก้าวหน้าในการทำงาน          
11. ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจในกฎระเบียบของหน่วยงาน          
12. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญสำหรับหน่วยงาน          
13. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหน่วยงานให้การดูแลครอบครัวของข้าพเจ้า          
14. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทน รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ เพียงพอที่จะดูแลครอบครัว          
15. ข้าพเจ้ารู้สึกวิตกกังวลถึงปัญหาทางบ้านในขณะทำงาน          
16. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าครอบครัวอยู่กันอย่างมีความสุข          
17. ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสถานที่ทำงานมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน          
18. ข้าพเจ้ารู้สึกปลอดภัยในขณะทำงาน          
19. ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจในความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน          
20. ข้าพเจ้ารู้สึกมีความสุขเมื่อได้มาทำงาน          

ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงให้สถานที่ทำงานน่าอยู่น่าทำงาน

เกณฑ์การให้คะแนน ทุกข้อ ยกเว้นข้อ 3, 4 และ 15 มีคะแนนดังนี้

มากที่สุด = 5
มาก = 4
ปานกลาง = 3
น้อย = 2
น้อยที่สุด = 1

ส่วนข้อ 3, 4 และ 15 มีคะแนนตรงกันข้าม ดังนี้

มากที่สุด = 1
มาก = 2
ปานกลาง = 3
น้อย = 4
น้อยที่สุด = 5

คะแนนรวม 20 – 40 คะแนน
แสดงว่าพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานน้อยมาก พนักงานเองอาจมีการเจ็บป่วยหรือลางานบ่อย ๆ พนักงานติดสุราหรือสิ่งเสพย์ติดต่าง ๆ พนักงานมีปัญหาครอบครัว พนักงานอาจมีปัญหาการหมดไฟในการทำงานหรือป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มีความขัดแย้งในระหว่างพนักงานด้วยกัน หรือระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน มีอุบัติเหตุในการทำงานบ่อย ๆ ซึ่งจะเป็นผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ส่งผลเสียต่อธุรกิจและผลผลิตของหน่วยงาน สมควรจะเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ที่นำเสนอในคู่มือเล่มนี้เป็นแนวทางต่อไป

คะแนนรวม 41 – 60 คะแนน
แสดงว่าพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานน้อย พนักงานจึงไม่ตั้งใจทำงานเท่าที่ควร ทำให้หน่วยงานเสียประโยชน์ ควรดำเนินการเพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานให้ดีขึ้น

คะแนนรวม 61 – 80 คะแนน
แสดงว่าพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานในระดับปานกลางถึงค่อนข้างมาก น่าจะได้มีการส่งเสริมให้พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นไปอีก โดยมีการส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

คะแนนรวม 81 – 100 คะแนน
แสดงว่าพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานเป็นอย่างมาก ควรพยายามดำเนินการเพื่อให้ความพึงพอใจนี้คงอยู่ตลอดไป

นอกจากนี้ คำถามแต่ละข้อยังอาจนำมาพิจารณาร่วมกันเพื่อแสดงถึงความพึงพอใจหรือปัญหาด้านต่าง ๆ ในการทำงานได้อีกด้วย ดังนี้

คำถามข้อ 1 – 4 แสดงถึง ความพึงพอใจหรือปัญหาด้านลักษณะงาน

คำถามข้อ 5 – 8 แสดงถึงความพึงพอใจหรือปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน

คำถามข้อ 9 – 12 แสดงถึงความพึงพอใจหรือปัญหาด้านบรรยากาศในการทำงาน

คำถามข้อ 13 – 16 แสดงถึงความพึงพอใจหรือปัญหาด้านครอบครัว

คำถามข้อ 17 –20 แสดงถึงความพึงพอใจหรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

หากคะแนนในกลุ่มข้อคำถามดังกล่าวสูง แสดงว่าพนักงานมีความพึงพอใจในด้านนั้นแล้ว แต่ถ้าคะแนนในกลุ่มข้อคำถามดังกล่าวต่ำ แสดงว่าพนักงานมีปัญหาในด้านนั้นมาก สมควรที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป

อนึ่ง คำถามปลายเปิดท้ายแบบสอบถาม จะบอกให้รู้ถึงรายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง และพนักงานต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ดี ในการเสริมสร้างสุขภาพจิตในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ ถ้าผู้บริหารต้องการจะทราบรายละเอียดให้มากขึ้นอีก อาจใช้การสัมภาษณ์รายบุคคล หรือสัมภาษณ์แบบกลุ่ม ก็ได้

การสำรวจปัญหาของพนักงาน จะเป็นการแสดงให้พนักงานเห็นว่าผู้บริหารมีความสนใจในทุกข์สุขของพนักงาน และถ้าปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขโดยเร็วตามที่พนักงานเสนอแนะ พนักงานก็จะรู้สึกว่าผู้บริหารมีความจริงใจและใส่ใจที่จะช่วยเหลือพนักงานอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความประทับใจ และมีความรู้สึกในแง่ดีต่อผู้บริหารมากขึ้น ยินดีให้ความร่วมมือ และอุทิศตนเพื่อการทำงานมากขึ้นด้วย

--------------------------------------------------------------------------------

I จากหนังสือคู่มือสำหรับผู้บริหาร เรื่อง สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน ของ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2544.